ท่องเที่ยว "ปีใหม่" รับผิดชอบขยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ท่องเที่ยว "ปีใหม่" รับผิดชอบขยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทย ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล 1 ใน 10 ของโลก ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ มีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก การคัดแยก-ลดปริมาณขยะ จะช่วยป้องกันขยะล้นแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยช่วงปี 2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564) มีประมาณ 1,864 ตัน

  • ขยะอินทรีย์ มากที่สุด จำนวน 737.58 ตัน หรือ 39.56%
  • ขยะทั่วไป จำนวน 722.26 ตัน หรือ 39.33%
  • ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว แก้ว และขวดพลาสติก จำนวน 291.26 หรือ 15.62%
  • ขยะอันตราย จำนวน 59.47 ตัน หรือ 3.19%
  • ขยะอื่นๆ จำนวน 42.95 ตัน หรือ 2.30%

 

เมื่อแยกเป็นขยะพลาสติก ได้แก่

  • ถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 812,591 ใบ แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 208,179 ใบ
  • โฟมบรรจุอาหาร จำนวน 31,301 ใบ

 

จากข้อมูล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ปี 2564 พบว่า ขยะที่ตกค้างชายฝั่ง มากที่สุด ได้แก่  

  • ขวดเครื่องดื่มพลาสติก
  • ถุงพลาสติก
  • เศษโฟม
  • ขวดเครื่องดื่ม
  • แก้ว
  • ถุงก๊อปแก๊ป
  • ถุงอาหาร
  • เศษพลาสติก
  • เสื้อผ้า
  • รองเท้า
  • เครื่องประดับ
  • แว่นตา และสร้อยคอ
  • กล่องอาหาร กล่องโฟม และกระป๋องเครื่องดื่ม

คิดเป็น 73%ของขยะทั้งหมด

ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่นๆ 27%

 


นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม ซึ่งส่งผลเสียต่อธรรมชาติ
เช่น หาดทราย แนวปะการัง

 

ขณะที่ ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ในอุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงสถานที่อื่นๆ ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากนักท่องเที่ยวเอง หรือจากโรงแรมรีสอร์ท บังกะโล ตลาดน้ำ และร้านอาหาร

 

ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวและพักในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมหลายแห่งในประเทศไทย ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ท่องเที่ยว \"ปีใหม่\" รับผิดชอบขยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

จากรายงานปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษปี2564 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ประมาณ 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 25.37 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ กรมอนามัย ยังคงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการ

1) คัดแยก และทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้อย่างถูกต้อง เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก หากนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด

2) ลดปริมาณการนำเข้าขยะ โดยนำวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้ว นอกจากนี้ ให้ระวังการก่อไฟเผาขยะ ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษและเกิดไฟไหม้อีกด้วย

 

“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามประกาศ และข้อแนะนำของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้ง 
การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมากเพื่อความปลอดภัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการขับขี่รถยนต์ด้วยความระมัดระวัง ดื่มไม่ขับ และคาดเข็มขัดนิรภัย
หากรู้สึกง่วงให้จอดพักและบริหารร่างกายง่ายๆ ด้วยท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยคลายเมื่อยก่อนเดินทางต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว