"โรคติดต่อ"ที่เคยสงบ เสี่ยงกลับมาระบาดในรอบ 20 ปี แม้มีวัคซีนป้องกัน

"โรคติดต่อ"ที่เคยสงบ เสี่ยงกลับมาระบาดในรอบ 20 ปี แม้มีวัคซีนป้องกัน

ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 กำลังจะทำให้ โรคอื่นๆที่เคยควบคุมได้ บางโรคนานร่วม 10-20 ปี  มีความเสี่ยงที่จะกลับมาระบาดใหม่  แม้แต่โรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่ทุกคนสามารถร่วมมือ หยุดความเสี่ยงระบาดได้ 

      จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศมุ่งเน้นการควบคุมโรคนี้ให้ได้ จนมีผลทางอ้อมที่จะทำให้โรคอื่นๆที่เคยควบคุมได้ มีความเสี่ยงที่จะกลับมาระบาดใหม่ โดยเฉพาะโรคที่มีวัคซีนป้องกัน อย่างเช่น 2 โรค เนื่องจากอัตราความครอบคลุมของวัคซีนป้องกันลดต่ำลง รวมถึง โรคมาลาเรีย
ตั้งทีมกวาดล้างหัด โปลิโอ

       ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565  เห็นชอบ

  1. ข้อเสนอมาตรการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทย เมื่อมีความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโปลิโอในต่างประเทศ ให้ทุกจังหวัดเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในเด็ก ประชาสัมพันธ์ฉีดกระตุ้น ประเมินความเสี่ยง ซักซ้อมแผน รณรงค์การให้วัคซีนเสริมในพื้นที่เสี่ยงและผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาวัคซีน ดำเนินการจัดหาวัคซีน IPV  
  2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอ การกำจัดโรคหัด และหัดเยอรมัน ระดับชาติ เพื่อให้การดำเนินงานกวาดล้างโปลิโอของไทยมีความเข้มแข็ง รวมถึงการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมัน และต้องมีการขับเคลื่อนมาตรการอย่างต่อเนื่อง

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
    อัปเดต สายพันธุ์โควิดในไทย จีนเปิดประเทศ และXBB.1.5ที่ระบาดในอเมริกา
    คลอดมาตรการเพิ่มรองรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย ไม่เจาะจงแค่จีนเปิดประเทศ
    WHO เตือนคนห่วงโควิดจนลืมป้องกันโรคหัด

โปลิโอวัคซีนกลายพันธุ์

     สถานการณ์โรคโปลิโอทั่วโลก ขณะนี้เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคโปลิโอ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลันในหลายประเทศ หลังจากไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มาเป็นระยะเวลานานหลายปี

    มีรายงานพบผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติ จำนวน 30 ราย ในปากีสถาน อัฟกานิสถาน และโมซัมบิก

     ผู้ป่วยโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ จำนวน 577 ราย ใน 22 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซียที่พบผู้ป่วย 4 ราย
         เมื่อเดือนพ.ย. 2565 องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานการพบเด็กติดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์กลายพันธุ์ชนิดที่ 2 (cVDPV2) ในจังหวัดอาเจะห์ (Aceh) ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

       เป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และในเวลาต่อมายังพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 ราย ในพื้นที่เดียวกัน

        พื้นที่ดังกล่าวมีระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีปัญหาการไม่เข้ารับวัคซีนจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้สูง

      นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ของโรคโปลิโอทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น 
     ส่วนใหญ่พบการระบาดในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำ หากมีการเดินทางของผู้ติดเชื้อโปลิโอจากพื้นที่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยอาจเกิดการระบาดในพื้นที่มีระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำ

\"โรคติดต่อ\"ที่เคยสงบ เสี่ยงกลับมาระบาดในรอบ 20 ปี แม้มีวัคซีนป้องกัน

โปลิโอหายจากไทยนานกว่า 20 ปี 

     โปลิโอในประเทศไทย จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 21 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แม้ว่าไทยจะไม่มีผู้ป่วยโรคโปลิโอมานานกว่า 25 ปีแล้ว โดยรายสุดท้ายคือในปี 2540 แต่เมื่อมีสถานการณ์ระบาดเกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ

          กรมควบคุมโรค ได้แจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนล่าช้า มารับวัคซีนอย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัตตานี  นราธิวาส ยะลา  และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

      “การเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในเด็กกลุ่มเป้าหมาย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะโรคโปลิโอเป็นโรคที่มีความรุนแรง หากมีการระบาดอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยได้มีแผนการรณรงค์ให้วัคซีนเสริมในเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเพื่อเป็นการเพิ่มความครอบคลุมและยกระดับภูมิคุ้มกันให้เพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค”นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว 
วัคซีนโปลิโอ 2 ชนิด

         ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า การเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค โดยในปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิด คือ

  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV)

       ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนดการให้วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ รวมทั้งการป้องกันด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือ รับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะ ขับถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอ

    “ โรคโปลิโอเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของไขสันหลังซึ่งเป็นสาเหตุให้มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ อาจถึงขั้นพิการตลอดชีวิตหรือเสียชีวิต ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ ปัจจุบันโรคโปลิโอยังไม่มียารักษาให้หายขาด”ผศ.นพ.ชนเมธกล่าว

วัคซีนหัด คอตีบ ไอกรน ครอบคลุมต่ำ

    ไม่เพียงแต่โปลิโอเท่านั้น ที่มีวัคซีนป้องกันแต่เสี่ยงกลับมาระบาดใหม่ ยังมีโรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรนด้วย จำเป็นที่ผู้ปกครองต้องนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนดเช่นเดียวกัน 

          ทั้งนี้ WHO กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ได้ออกประกาศเตือนการลดลงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด กำลังทำให้  โรคหัดระบาดได้ง่ายและกลายเป็นภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นได้ทั่วโลก

         นพ.ธเรศ กล่าวว่า  จากการระบาดของโรคโควิด-19ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานพยาบาลจำเป็นต้องจำกัดจำนวนผู้เข้ารับบริการหรือลดความถี่ในการบริการฉีดวัคซีนเด็ก รวมถึงผู้ปกครองมีความกังวลในการพาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล

       ทำให้ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนลดลง อาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนขึ้นได้ เช่น โรคหัด โรคคอตีบ โรคไอกรน เป็นต้น โดยโรคหัดทำให้เกิดอาการไข้ ตาแดง ไอ ผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว ในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้

\"โรคติดต่อ\"ที่เคยสงบ เสี่ยงกลับมาระบาดในรอบ 20 ปี แม้มีวัคซีนป้องกัน
เร่งฉีดวัคซีนหัด

          โรคหัดเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายมากและจะเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่

      ขณะนี้มีแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยกรมควบคุมโรคได้มีการลงพื้นที่เพื่อ หารือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ในเรื่องกลยุทธ์การเร่งรัดฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็ก

          จากการติดตามผลบริการฉีดวัคซีนภาพรวมได้ลดลงทุกวัคซีน เช่น

  •      เดือนต.ค.2565 พบความครอบคลุมการฉีดวัคซีนหัดเข็มที่ 1 เป็น 86% และเข็มที่ 2 เป็น 82%
  •         ปี 2562 พบความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็น 92% และเข็มที่ 2 เป็น 90 %

       ได้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรคหัดไว้แล้ว  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในเด็กเล็ก

  •      สามารถรับวัคซีนเข็มที่ 1 ได้เมื่ออายุ 9 เดือน
  •      รับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง

     และกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้สนับสนุนวัคซีนหัดในผู้ใหญ่กลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อขอรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การติดต่อ-อาการโรคหัด

          ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวว่า การรับวัคซีนโรคหัดเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด โดย มีวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ให้กับเด็กทุกคน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่ อายุ 9 เดือนขึ้นไป การได้รับวัคซีนครบสองเข็มจะป้องกันโรคหัดได้มากกว่า 97%  

         ไวรัสโรคหัดติดต่อได้ง่ายมาก ผ่านได้ทั้งทางฝอยละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งในอากาศและการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
          อาการแสดงของโรคหัดจะเริ่มจากไข้ ตาแดง ไอ ต่อมาผื่นแดงขึ้นกระจายทั่วตัว ในเด็กเล็กอาจมีภาวะปอดบวมแทรกซ้อน

\"โรคติดต่อ\"ที่เคยสงบ เสี่ยงกลับมาระบาดในรอบ 20 ปี แม้มีวัคซีนป้องกัน
มาลาเรียแนวชายแดน
      นอกจากนี้ มาลาเรียเป็นอีกโรคที่เสี่ยงกลับมาระบาดเช่นกัน โดยเฉพาะตามแนวชายแดน

      นพ.โสภณ บอกว่า มาลาเรียเป็นปัญหาที่กำลังจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทยฝั่งตะวันตก ที่มีผู้ป่วยมาลาเรียเข้ามารักษาในฝั่งไทย และบางครั้งเป็นแรงงานที่เดินทางเข้ามาจากการที่ประเทศมีความต้องการแรงงานเพิ่ม

         จากเดิมที่มีผู้ป่วยราวปีละ 2,000 ราย ปัจจุบันเพิ่มเป็นราว 8,000-9,000 ราย แต่ยังอยู่ในพื้นที่ชายแดนเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ เพื่อตรวจ ค้นหา รักษา จะช่วยทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงได้  แต่ต้องป้องกันเรื่องการไม่ให้ยุงก้นปล่องกัดด้วย
สายพันธุ์มาลาเรีย

       กรมควบคุมโรค ระบุว่า   โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ปัจจุบันในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่คือ Plasmodium  vivax ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการรุนแรง แต่สามารถเป็นๆ หายๆ จากเชื้อที่มีระยะหลบพักในตัว
     เชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่
  1. Plasmodium  falciparum เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม หรือ พีเอฟ (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. Plasmodium  vivax เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ หรือ พีวี (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ
  3. Plasmodium  malariae  เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ หรือ พีเอ็ม (P.m.)
  4. Plasmodium  ovale เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล หรือ พีโอ (P.o.)
  5. Plasmodium  knowlesi เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ หรือ พีเค (P.k.) เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน