เปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด-19ไทยปี 66 พร้อม10จุดฉีดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด-19ไทยปี 66  พร้อม10จุดฉีดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบมาตรการป้องกัน "โควิด-19" รองรับต่างชาติเข้าประเทศ สุ่มตรวจเชื้อผู้ป่วยที่สนามบิน เฝ้าระวังสายพันธุ์ เพิ่มทางเลือกต่างชาติไร้ประกันสุขภาพซื้อของไทยมีครอบคลุม 4 บริษัท พร้อมตั้งคณะอนุฯบริหารบูรณาการ กลั่นกรองมาตรการเสนอคกก.

       เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566ว่า คณะกรรมกาฯได้เห็นชอบใน 3 เรื่อง คือ

       1.มาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ใน 3 เรื่องย่อย ได้แก่  มาตรการด้านสาธารณสุข  เช่น เฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางที่มีอาการทางเดินหายใจให้ได้รับการตรวจด้วย ATK หรือ PCR ,ตรวจสายพันธุ์เชื้อโควิด 19 เพิ่มกลไกการรายงานผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังและตรวจสายพันธุ์ในน้ำเสียจากเครื่องบิน

     การทำประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เน้นผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้ขากลับประเทศต้นทางต้องมีผลตรวจ RT-PCR คือ จีนและอินเดีย โดยต้องมีประกันสุขภาพวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย (เงื่อนไขตามที่กำหนด)
       สำหรับผู้มาประกอบภารกิจ รวมถึงลูกเรือ นักเรียน อาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพหรือเอกสารแสดงถึงการมีประกันรูปแบบอื่นรับรองแทนโดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อจะสุ่มตรวจเอกสารรับรองประกันสุขภาพของผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าว หากพบว่าไม่มีเอกสารประกันสุขภาพ จะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าเมือง     
         และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 เน้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนได้รับวัคซีนครบ 4 เข็ม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการป้องกันการป่วยหนัก

10 จุดต่างชาติฉีดวัคซีนโควิดในไทย

       2.การให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในชาวต่างชาติ โดยให้มีการจัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามความสมัครใจ และคิดค่าบริการที่เหมาะสม ภายใต้กลไก Medical hub โดยวัคซีนที่ให้บริการจะเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดหามาเท่านั้น

       มีจุดบริการฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะนำร่อง แบ่งเป็น

  • กทม.ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง ,รพ.นพรัตนราชธานี ,รพ.เลิดสิน, รพ.ราชวิถี ,ศูนย์การแพทย์บางรัก ,สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
  • เชียงใหม่ ได้แก่ รพ.ประสาทเชียงใหม่
  • ชลบุรี ที่ศูนย์พัทยารักษ์
  •  ภูเก็ต หน่วยบริการที่ดำเนินการโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต

       ทั้งนี้ การบริหารจัดการวัคซีนให้คำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลังที่จะไม่กระทบกับประชาชนไทยและให้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนไทยเป็นลำดับแรก

      และ3.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้มีกลไกการจัดการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด มีการประสานงานมาตรการที่ใช้กับผู้เดินทางอย่างไร้รอยต่อ โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.เป็นประธาน 

         "ภาพรวมโควิด-19ในไทยตอนนี้  สามารถผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค-19 ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี จำนวนผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง อัตราครองเตียงระดับ 2 และ 3 ยังต่ำกว่า 6% แต่ที่ต้องเร่งรัดคือ การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งที่เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือได้รับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน จึงต้องรณรงค์ให้รับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม กระตุ้นทุก 4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพราะหากติดเชื้อจะไม่ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต" นายอนุทินกล่าว

สุ่มตรวจเชื้อผู้ป่วยที่สนามบิน

      ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  สำหรับค่าบริการวัคซีนโควิด-19สำหรับต่างชาติ คิดค่าบริการตามอัตราผู้ป่วยนอกตามเกณฑ์ผู้ป่วยต่างชาติ 380 บาท บวกกับค่าวัคซีน หากเป็นไฟเซอร์ 1,000 บาท และแอสตร้าเซนเนก้า 800 บาท  ซึ่งในระยะแรกจะมีการทำหนังสือเวียนให้หน่วยบริการรัฐรับทราบ   อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบจำนวนต่างชาติที่ประสงค์ฉีดวัคซีนในไทยที่แน่ชัด แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำรวจว่ามีสนใจจำนวนหนึ่ง 

      ส่วนการสุ่มตรวจเชื้อทางห้องแล็ป จะประสานให้สายการบินประชาสัมพันธ์ให้ผู้เดินทางรับทราบ หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิจะสุ่มตรวจเชื้อทางห้องแล็ป และยืนยันสายพันธุ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
      สำหรับประกันสุขภาพได้ประสานให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เข้ามาช่วยดูแพ็คเกจประกันที่คุ้มครองการรักษาโควิด-19และจำนวนวันที่เหมาะสม ซึ่งได้รับรายงานเบื้องต้นว่ามี 4 บริษัทประกันในไทยที่ครอบคลุมตรงนี้อยู่แล้ว สามารถเป็นทางเลือกให้ผู้เดินทางซื้อออนไลน์ได้ ส่วนประกันชุดใหม่คปภ.และบริษัทขอพิจารณาเรื่องอัตรการติดเชื้อและอัตราทดแทนอีกครั้ง 
แนวทางวัคซีนโควิดปี 66
     นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในปี 2566  จะเป็นการให้เข็มกระตุ้น 2 เข็ม  โดยจะเน้นที่กลุ่มเสี่ยงสูงเป็นลำดับแรก คือ ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน กลุ่มเสี่ยง 608 ส่วนวัยทำงานได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 3-4 เข็ม ยืนยันวัคซีนที่มีมากกว่า 20 ล้านโดส เพียงพอสำหรับการให้บริการทั้งนักท่องเทียวและคนไทยแน่นอน โดยบริษัทจะทยอยส่งมอบตามที่กรมกำหนด
       "ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19เพิ่มเติม รวมถึงวัคซีนรุ่น2ด้วยเนื่องจากมีผลการศึกษาในต่างประเทศอย่างน้อย 2 งานวิจัย สรุปตรงกันว่าภูมิคุ้มกันในการยับยั้งไวรัส(Neutralizing Antibody) ไม่แตกต่างอจากวัคซีนรุ่นเดิม"นพ.โสภณกล่าว