ส่องโมเดล บ่อเกลือ จ.น่าน "รพ.-ชุมชน" ดูแลผู้ปวย "ล้างไต" ที่บ้าน
ปี 2563 ไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 8 ล้านคน แม้ปัจจุบัน "สิทธิบัตรทอง" จะสามารถฟอกไตฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และล้างไตที่บ้านได้ แต่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาล รพสต. และชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยสมบูรณ์
จากรายงาน The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด เมื่อดูการบริโภคโซเดียมของคนไทย พบว่า มากถึง 3,635 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า เกลือประมาณ 2 ช้อนชา สูงกว่าปริมาณที่แนะนำเกือบ 2 เท่า โดยปริมาณที่แนะนำ คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ โซเดียมในอาหาร 90% มาจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซุปก้อน เกลือ และอาหารสำเร็จรูปล้วนแต่มีโซเดียมสูง
โรคไตถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก และคนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับ สถานการณ์โรคไตในปี 2563 พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ผลที่ตามมา คือ ภาวะไตเสื่อมและไตเสื่อมเร็วขึ้น หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง
คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย ส่วนการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้เพียงปีละ 500 ราย จึงเน้นการชะลอความเสื่อมของไตเพื่อให้เข้าสู่ระยะที่ต้องล้างไตช้าลง
สิทธิบัตรทอง ดูแลผู้ป่วยโรคไต
ขณะเดียวกัน “โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” ถือเป็นโรคที่สามารถทำให้ล้มละลายได้ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ดูแลค่าใช้จ่ายล้างไตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทอง ให้สิทธิเลือกวิธีการล้างไตด้วยตัวเอง ตามความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากปัจจุบันระบบสุขภาพมีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีการฟอกเลือดมากขึ้น เช่น การพัฒนาคน พัฒนาอุปกรณ์ สามารถทำได้ง่ายกว่าในอดีต นับเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หากผู้ป่วยจ่ายเองจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 20,000 บาท
ล้างไต ได้ที่บ้าน
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ สปสช. ได้ทำการยกระดับการดูแล "ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง" สิทธิบัตรทอง โดยการสนับสนุน "เครื่องล้างไตอัตโนมัติ" ให้ใช้ที่บ้าน ส่งน้ำยาผ่านไปรษณีย์ฟรีทุกเดือน เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ขยายเพิ่มขึ้นแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการล้างไตโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน โดยผู้ป่วยสามารถตั้งเวลาการทำงานของเครื่องไว้ได้ล่วงหน้า ไม่ต้องตื่นมากลางดึกเพื่อเติมน้ำยาล้าง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลนั้นดีขึ้น
“บ่อเกลือ” บูรณาการดูแลผู้ป่วยล้างไตที่บ้าน
อ.บ่อเกลือ จ.น่าน อยู่ห่างจาก อ.เมืองน่าน ประมาณ 106 กม. พื้นที่ส่วนใหญ่ 80% เป็นพื้นที่ภูเขา อีก 20% เป็นที่ราบ ประชากรตามทะเบียนราษฎร์ 13,000 คน มีผู้ป่วยต้องฟอกไตทางหน้าท้องมี 11 ราย ที่รับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวและโรงพยาบาลน่าน
ทั้งนี้ เมื่อส่งมาที่บ่อเกลือแล้วจะมีพยาบาลผู้รับผิดชอบงานโรคไตทำหน้าที่ติดตามอาการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมประเมินที่อยู่อาศัยว่าเอื้อต่อการล้างไตทางหน้าท้องหรือไม่ หากทำที่บ้านไม่ได้ก็จะประสานองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลจัดสถานที่ล้างไตที่เหมาะสมให้
"น.ส.พิมพิไล ช่างทอง" หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลบ่อเกลือ กล่าวว่า พยาบาลจะลงพื้นที่ติดตามอาการผู้ป่วยทุกเดือน รวมทั้งส่งข้อมูลให้ รพ.สต. ในพื้นที่ติดตามซ้ำ กรณีผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน พยาบาลผู้รับผิดชอบสามารถโทรปรึกษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว หรือโรงพยาบาลน่านได้ตลอด 24 ชม. และหากต้องมีการส่งต่อ ทางโรงพยาบาลบ่อเกลือก็จะจัดรถพยาบาลไปส่ง
ชุมชนร่วมใจ สร้างห้องล้างไต
ขณะเดียวกัน รพ.สต.บ้านผักเฮือก ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน รับผิดชอบ 8 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 3,000 คน ปัจจุบันมีผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้อง 3 ราย และผู้ป่วยติดเตียงอีก 4 ราย หนึ่งในนั้น คือ “ผู้ป่วยหญิง” อายุ 38 ปี ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ปี 2547 และหลังคลอดยังคงมีความดันโลหิตสูงอยู่ รักษาโรคความดันโลหิตสูงที่โรงพยาบาลบ่อเกลือ แต่ไม่ได้รับยาต่อเนื่อง เนื่องจากการเดินทางลำบากและต้องทำงาน
ต่อมามีอาการว่าอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายมากขึ้น ไปตรวจโรงพยาบาลบ่อเกลือพบว่ามีภาวะไตวายเรื้อรัง โรงพยาบาลบ่อเกลือจึงรักษาตามอาการอยู่ระยะหนึ่ง แต่แนวโน้มค่าการทำงานของไตแย่ลงเรื่อย ๆ จึงส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว (รพร.ปัว) กับแพทย์เฉพาะทาง จนได้รับการวางเส้นล้างไตทางหน้าท้องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564
ปัจจุบันผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่บ้านกับลูกสาวเพียง 2 คน สามีไปทำงานรับจ้างกรมทางหลวงในเมืองน่าน ลูกสาวเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ่อเกลือ ผู้ป่วยมีนัดรับยาที่รพร.ปัวทุก 3-4 เดือน โดยให้ลูกสาวขับรถจักรยานยนต์ไปส่ง ส่วนการฉีดยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (erythropoietin) จะฉีดที่ สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) บ้านยอดดอยวัฒนา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง วันจันทร์และวันพฤหัสบดี และได้รับการสนับสนุนน้ำยาล้างไตที่ สปสช. สนับสนุนตามโครงการพิเศษส่งถึงบ้านตามที่อายุรแพทย์ รพร.ปัวสั่งจ่าย
ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนการปรับปรุงห้องสำหรับการล้างไตผ่านทางหน้าท้องจากความร่วมมือของชุมชนในการออกค่าใช้จ่ายและออกแรงในการก่อสร้าง และได้รับการสนับสนุนเตียง แอลกอฮอล์ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์จาก สสช. บ้านยอดดอยวัฒนา รพ.สต.บ้านผักเฮือก และ รพ.บ่อเกลือ สำหรับการจัดการขยะติดเชื้อผู้ป่วยจะนำถุงน้ำยาล้างไตมาทิ้งในขยะติดเชื้อที่สสช.บ้านยอดดอยวัฒนา เพื่อให้รพ.บ่อเกลือ นำส่งกำจัดที่เทศบาลเมืองน่านต่อไป
"นายอดิศักดิ์ สุยะ" ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านผักเฮือก อธิบายว่า สำหรับผู้ป่วยโรคไตรายดังกล่าวอาศัยอยู่ห่างจาก รพ.สต. ไม่ต่ำกว่า 20 กม. จึงให้ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องที่บ้าน แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีฐานะยากจน จึงได้ขอความร่วมมือชุมชน ในการจัดทำห้องสำหรับล้างไตให้ รวมทั้งขอรับการสนับสนุนเตียงจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดน่าน ขณะที่ รพ.สต. จะจัดทีมออกเยี่ยมบ้านในทุกๆ วันจันทร์และพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์
ขณะที่ผู้ป่วยติดเตียงจะมี อสม. ให้การดูแลเข้าไปเยี่ยมวัดไข้ วัดความดันโลหิต ตลอดจนให้คำแนะนำในการดูแลต่างๆทุก 2 วัน อีกทั้ง ผู้ป่วยจะมีหมายเลขโทรศัพท์ของ รพ.สต. สำหรับติดต่อ หากมีอาการแทรกซ้อนใดๆ ก็สามารถแจ้งมาที่ รพ.สต. ได้ทันที เจ้าหน้าที่จะออกไปเยี่ยมบ้านโดยไม่จำเป็นต้องรอตามกำหนดการเดิม
“การที่ผู้ป่วยได้ทำการล้างไตที่บ้านอย่างถูกต้องผ่านคำแนะนำ และได้รับการติดตามของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางเข้าไปยังโรงพยาบาลอำเภอบ่อเกลือเพื่อไปล้างไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทางได้สัปดาห์ละ 600 บาท ทำให้ผู้ป่วยมีเงินเหลือเก็บได้อีกเดือนละกว่า 2,000 บาท” นายอดิศักดิ์ กล่าว
ด้าน "นายจรัส พนะสัน" ผู้ใหญ่บ้าน บ้านยอดดอยวัฒนา ม.10 ต.บ่อเกลือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน กล่าวว่า การปรับปรุง และจัดทำห้องสำหรับล้างไตให้ผู้ป่วยในหมู่บ้านที่มีฐานะยากจน จะอาศัยความร่วมมือของคนในหมู่บ้าน ชุมชน ได้มาช่วยกันปรับปรุงตามกำลังที่มี โดยไม่ได้ขอรับการสนับสนุนจากท้องถิ่น ซึ่งห้องล้างไตที่จัดทำขึ้น ได้ดำเนินการร่วมกันกับ รพ.สต.ในพื้นที่ ซึ่งใช้ระยะเวลาแค่ 1 วันก็จัดการได้เสร็จ
สะท้อนกลไกระบบสุขภาพไทย
"ทพ.อรรถรพร ลิ้มปัญญาเลิศ" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวขณะลงพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เยี่ยมชมการจัดบริการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง (CAPD) และผู้ป่วยติดเตียง ของโรงพยาบาลบ่อเกลือและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ โดยระบุว่า การจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกลที่อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นอีกตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า กลไกต่างๆ ในระบบสุขภาพของประเทศไทย ยังสามารถจัดบริการได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง พร้อมเข้าถึงยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิประโยชน์บัตรทองจะทำให้ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยายาล แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น ค่าเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด ซึ่งต้องไปโรงพยาบาลแม่ข่าย และมีค่าใช้จ่ายวันละหลายร้อยบาท แต่ทั้งนี้ โรงพยาบาลบ่อเกลือ พยายามใช้การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine สำหรับดูแลผู้ป่วยได้พบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน สปสช.มีสิทธิประโยชน์ในการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับบริการ Telemedicine
ขณะเดียวกัน สปสช.พร้อมจะรับฟังทุกข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุง เพิ่มเติมให้การบริการสุขภาพสำหรับประชาชนให้ดี และเข้าไปช่วยแก้ปัญหา โดยเฉพาะกฎระเบียบที่อาจทำให้หน่วยบริการทำงานได้ไม่สะดวก ซึ่ง สปสช.พร้อมจะรับข้อมูลไปเพื่อปรับให้การบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ดีมากขึ้น
"การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine อาจจะมีปัญหาในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ แต่ก็ยังสามารถใช้บริการ Telemedicine ได้ผ่านสมาร์ทโฟนของ อสม. หรือของรพ.สต.ในพื้นที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ได้" ทพ.อรรถพร กล่าว