กางแผนพัฒนาระบบยา 5 ปี สร้างมูลค่าส่งออกกว่า 16,000 ล้านบาท
เห็นชอบ (ร่าง)แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบยา 5 ปี เพิ่มศักยภาพการวิจัยพัฒนายาสำคัญ สร้างมูลค่าส่งออกกว่า 16,000 ล้านบาท ผลิตยาทดแทนการนำเข้า พัฒนายานวัตกรรมในประเทศ-เข้าถึงยาถ้วนหน้า วางเป้ามูลค่ายามุ่งเป้าที่ผลิตเพิ่มขึ้น 10 % ค่าใช้จ่ายจัดหายาลดลงสะสม 15,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาโดยร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา 2.พัฒนากลไกการเข้าถึงยาถ้วนหน้า ราคายาที่สมเหตุผล ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน 3.พัฒนากลไกสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 4.การจัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ มุ่งหวังให้เกิดระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึงและปลอดภัย
การนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านยาฯ ไปสู่การปฏิบัติ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการผลิตยานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วและเพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่า 16,000 ล้านบาท อีกทั้ง ยังผลักดันให้มียาสามัญทดแทนยาต้นแบบ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน และปรับปรุงบัญชี ยาหลักแห่งชาติ เช่น ยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 กรณีผู้ป่วยที่มีอาการระดับรุนแรง
ยาสำหรับโรคหายากที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและสมุนไพรไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายจากการกำหนดราคากลางของยาที่มีราคาแพง ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณกว่า 148 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งการขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลสอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
“สธ. จะเร่งผลักดัน (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2570 นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ พร้อมมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ระบบยามั่นคงด้วยการวิจัยพัฒนา ประเทศมีการจัดหายาจำเป็นไว้ใช้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน”นายสาธิตกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านยาฯ มีการกำหนด 10 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1.มูลค่ายามุ่งเป้าที่ผลิตเพิ่มขึ้น 10 %
2.ยานวัตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 รายการ
3.มูลค่ายาส่งออกเพิ่มขึ้น 25 %
4.80 %ของยาจำเป็นที่มีความเสี่ยงขาดแคลนมีอัตราสำรองไม่น้อยกว่า 1 เดือน
5.ค่าใช้จ่ายด้านยาจากการจัดหายาลดลงสะสม 15,000 ล้านบาท
6.ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นสะสม 80,000 ราย
7.60%ของประชาชนไทยมีความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
8.จังหวัดใช้ยาอย่างสมเหตุผล 50 %
9.มีNational Drug Code ของประเทศ
และ10.มีระบบสารสนเทศด้านยาของประเทศ
โดยจะมีการนำเสนอ(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาฯต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เพื่อพิจารณากลั่นกรองแผนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานสำคัญของคยช.พ.ศ.2565 อาทิ บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ปี 2565 บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 เพิ่มยา 3 รายการ เช่น ยาน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีTHC 3 มิลลิกรัม/หยด ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคเชื้อราที่เล็บ ปี 2566 พิจารณายาสมุนไพนเพิ่มเติม เช่น ยาประสะกัญชา ปรับยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 ไปอยู่ในบัญชีพื้นฐาน
และบรรจุยาผสมหญ้าดอกขาว รูปแบบลูกกลอน ซึ่งจะมีการจัดทำประกาศต่อไป และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศ โดยส่งเสริมยามุ่งเป้า มีการอนุมัติทะเบียนยามุ่งเป้าในปี 2565 จำนวน 68 ทะเบียน 33 ตัวยา ช่วยประหยัดค่ายาได้ 1,221 ล้านบาท รวมถึง ทบทวนแนวทางการส่งเสริมอุตสากรรมผลิตยาในประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒยานวัตกรรม สนับสนุนการผลิตยาสามัญใหม่ทดแทนการนำเข้า และเพิ่มศักยภาพการส่งออกยา