ส่องนโยบายสูงวัย '10พรรคการเมือง' ชูสวัสดิการ ดันความมั่นคงวัยเกษียณ
การก้าวสู่ 'สังคมสูงวัย' นับเป็นรื่องที่ท้าทายทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นโจทย์สำคัญต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการวางแผนแผนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น มาดูกันว่า '10พรรคการเมือง' มีการชูนโยบายด้านผู้สูงอายุไว้อย่างไร
สังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ไทยอาจก้าวเป็น Super-Aged Society หรือ สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด ในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574 หลังประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงมาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน และรุ่น Baby Boomer กำลังเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปี จำนวนมากในปี 2566 นี้
ไม่เพียงภาคธุรกิจเท่านั้นที่ต้องเตรียมความพร้อม เพราะการเดินหน้าสู่ สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด ที่อาจมาเร็วขึ้นนี้ นับเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งจัดการ เพราะเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การวางแผนงบประมาณทั้งด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เบี้ยผู้สูงอายุ สวัสดิการแรงงาน และที่สำคัญสถานะความเพียงพอของกองทุนประกันสังคมในระยะข้างหน้า
10 พรรคการเมือง ประกาศ นโยบายเลือกตั้ง 2566 เกี่ยวกับ ผู้สูงอายุ ไว้ดังนี้
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้ประกาศนโยบายของพรรคเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเวทีปราศรัยใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะปรับให้เป็น 1,000 บาทเท่ากันทุกช่วยอายุ จากที่ในปัจจุบันให้เป็นขั้นบันได 600 - 1,000 บาท
- นโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และ ลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘นโยบาย’ และที่มาของ ‘รายได้’ สิ่งที่พรรคการเมืองไม่พูดถึง
- ‘อุตตม’ ชูเร่งยกเครื่องภาคอุตฯ คว้าโอกาสลงทุนช่วงขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
- 'นักวิชาการ'ชี้นโยบายพรรคการเมืองไทย ยังก้าวไม่พ้น 'ประชานิยม'
- พรรคเพื่อไทย
แม้ว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เปิดตัวนโยบายผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากแนวความคิดของแกนนำที่มีส่วนกำหนดนโยบายพรรคอย่าง นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นโยบายการดูแลผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ดูแลกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ
รวมทั้งการเพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ โดยพรรคเพื่อไทยเคยคิดนโยบายเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา เรื่องหวยบำเหน็จ แทนที่จะเล่นหวยแล้วเงินหายไป เปลี่ยนเป็นนำเงินที่ซื้อไปฝากไว้ ลักษณะเดียวกับสลากออมสิน แต่จ่ายทุกงวด เก็บให้จนอายุ 60 ปีและจ่ายคืนมา มีเงินเหลือเก็บให้ใช้ในวัยเกษียณ เป็นต้น
- พรรคประชาธิปัตย์
เสนอนโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นภาคบังคับ ข้อเสนอเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่พนักงานต่าง ๆ ออมเงินไว้ ควรเปิดโอกาสให้เขานำเงินตรงนี้ไปซื้อบ้าน หรือสินทรัพย์ไว้ได้ เสนอให้มีการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเพิ่มไปอีก เพราะบางคนยังไม่มีเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง ปรับระบบประกันสุขภาพที่มีหลายระบบ และมาตรฐานแตกต่างกัน ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ไม่เหลื่อมล้ำ และใช้การรักษาสุขภาพของคนที่จะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น
- พรรคพลังประชารัฐ
พรรคได้มีการประชุมคณะกรรมการพรรคและเห็นชอบให้กำหนดนโยบายสำหรับผู้สูงอายุ โดยปรับบัตรสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นนโยบาย 3 4 5 และ 6 7 8
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับ 3,000 บาท
- ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับ 4,000 บาท
- ผู้สูงอายุอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท
- ขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี
- ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่สำหรับพนักงานที่เป็นผู้สูงอายุ สนับสนนุวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง จูงใจให้บริษัทต่างๆ จ้างงานผู้สูงอายุ
- พรรคก้าวไกล
เสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 เพื่อยกระดับรายได้ของผู้สูงอายุให้พ้นเส้นความยากจน และเติมสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง การสมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเป็นงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงภายในท้องถิ่น รวมถึงการจ้างงานผู้ดูแล
จัดสรรงบประมาณโดยเฉลี่ยในการดูแลผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ติดบ้าน-ติดเตียง ที่ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ (ประมาณ 1,500 บาท/คน/เดือน) และการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ (ประมาณ 7,500 บาท/คน/เดือน) โดยมีอัตราผู้ดูแลโดยเฉลี่ย 1 คน ต่อ ผู้ป่วย 2 คน
- พรรคไทยสร้างไทย
ถือเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่ชูเรื่องการเพิ่มเบี้ยคนชรา 3,000 บาทต่อเดือน โดยในเฟสแรก จะช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้ไม่เพียงพอ ก่อนหน้านี้ รศ.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ระบุ ในปีงบ 2565 มีการจัดสรรงบเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 3,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ อีกแนวทางที่จะจัดทำคือเรื่องของบำนาญประชาชน โดยมีเป้าหมายที่ 5 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีผู้เป็นสมาชิกแล้ว 1.1 ล้านคน และ การทำให้คนเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจและภาคบังคับเพิ่มเติม เพื่อสร้างระบบบำนาญประชาชนในระยะยาว
- พรรคชาติพัฒนากล้า
มีแนวนโยบายในการเพิ่มศักยภาพผู้สูงอายุให้เป็นกำลังทางเศรษฐกิจโดย มีนโยบายที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์สีเงิน” ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ โดยพรรคจะให้เงินสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ และมีกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อปรับอารยสถาปัตย์เพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ โดยตั้งเป้า 4 ล้านครัวเรือนในปีแรก
- พรรคภูมิใจไทย
มีนโยบาย เกี่ยวกับการเอาใจใส่ดูแลสวัสดิการ กองทุนประกันชีวิต 60 ปี ขึ้นไป เสียชีวิตได้ 1 แสนบาท และสามารถกู้ได้ 20,000 บาท ไม่ต้องมีคนค้ำ ถือเป็นเรื่องดี จะเป็นการสร้างพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และบางคนที่ยังสามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ จะได้ต่อยอดในการลงทุน พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเวลาเจ็บป่วยเสียชีวิต จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน
- พรรคชาติไทยพัฒนา
ได้มีการเปิดตัวนโยบาย “WOW THAILAND” Wealth Opportunity and Welfare For All โดยการสร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน” โดยหนึ่งในนั้น คือนโยบาย สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ และจัดเบี้ยให้คนพิการเดือนละ 3,000 บาท
- พรรคเสรีรวมไทย
ทางด้าน “พรรคเสรีรวมไทย” ที่ก่อตั้งโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค มาพร้อมนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ 2 ข้อ คือ ให้บำนาญประชาชนที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่มีรายได้คนละ 3,000 บาทต่อเดือน และ ขยายอายุเกษียณข้าราชการ จาก 60 ปี เป็น 65 ปี