นวัตกรรมเฝ้าระวัง 'ไวรัสในยุงลาย' ประเมินทางระบาด 3 โรคติดต่อ
สคร.ที่ 11 นครศรีธรรมราช วิจัยนวัตกรรมในการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคในยุงลาย ใช้เป็นเครื่องมือประเมินทางระบาดวิทยาในการเฝ้าระวัง 3 โรคติดต่อจากยุงลาย
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณ สุข กล่าวว่า โรคติดต่อนำโดย ยุงลาย ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 (สคร.) จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้วิจัยนวัตกรรมการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสเดงกี ไวรัสชิคุนกุนยา และไวรัสซิกา ในยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยศึกษากึ่งทดลองในกลุ่มตัวอย่างอาคารบ้านเรือน และกลุ่มตัวอย่างยุงลายเกาะพักในอาคารบ้านเรือน 6 พื้นที่เสี่ยงสูงต่อโรคไข้เลือดออก
ในตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อย่างน้อยพื้นที่ละ 200 หลัง บันทึกตำแหน่งโดยใช้เครื่องวัดพิกัด GPS และเก็บตัวอย่าง pool ของยุงลายพื้นที่ละ 100 pools ด้วยเครื่องดูดยุง เพื่อทำการสกัด RNA
ผลการศึกษาพบการติดเชื้อร่วมระหว่างเชื้อไวรัสเดงกี ซีโรไทป์ 1, 2 และ 3 กับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาในตัวอย่าง pool ของยุงลายบ้าน 1 pool คิดเป็นร้อยละ 1 จากพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซีโรไทป์ 1 ในตัวอย่าง pool ของยุงลายบ้าน 1 pool คิดเป็นร้อยละ 1 จากพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และไม่พบการติดเชื้อไวรัสในตัวอย่าง pool ของยุงลายบ้าน จากพื้นที่จังหวัดพังงา
ส่วนตัวอย่าง pool ของยุงลายสวน ซึ่งเก็บได้เฉพาะพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่พบการติดเชื้อไวรัสเช่นกัน สำหรับอาคารบ้านเรือนที่พบยุงลายตัวเต็มวัยเกาะพัก มีลักษณะการกระจายเป็นกลุ่มก้อน สอดคล้องกับชีวนิสัยของยุงลายบ้านที่ชอบวางไข่ตามภาชนะรองรับน้ำในบ้านและรอบบ้าน มีระยะบินออกหากินเลือดและแหล่งเกาะพักเป็นช่วงสั้นๆ จึงพบว่าอาคารบ้านเรือนที่ยุงลายตัวเต็มวัยเกาะพักมีระยะใกล้กันมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ชุมชนพักอาศัยอาจเป็นปัจจัยกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพลวัตประชากรยุงลายและการแพร่พันธุ์ของยุงลาย
จากผลการวิจัย ทำให้สามารถนำวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสในยุงมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินทางระบาดวิทยาโดยตรง เพื่อวิเคราะห์แหล่งที่มาของการแพร่กระจายไวรัสเดงกี ชิคุนกุนยา และซิกา เฝ้าระวังทางกีฏวิทยาของยุงลายและเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยยุงลาย รวมถึงถ่ายทอดนวัตกรรมไปยังเครือข่ายบริการสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 11 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สามารถทำการศึกษาวิจัยต่อยอดได้ในประเด็นเกี่ยวกับจำนวนตัวอย่าง Pool ของยุงลายตัวเต็มวัยเกาะพักในบ้านที่จับได้จากพื้นที่ที่มีนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมต่างกันและจากหลายจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมถึงประเด็นยุงลายตัวเต็มวัยเพศผู้ หรือยุงที่มีความสำคัญทางการแพทย์ชนิดอื่น มีความไวรับต่อการติดเชื้อไวรัสทั้ง 3 ตัวมากน้อยเพียงใด