ส่องรายได้-เศรษฐกิจ เมื่อใช้ 'วัฒนธรรม' เป็น 'ทุน'ประเทศ

ส่องรายได้-เศรษฐกิจ เมื่อใช้ 'วัฒนธรรม' เป็น 'ทุน'ประเทศ

วันสงกรานต์ 2566 หนึ่งในประเพณีไทย  ส่องรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อมีการนำ วัฒนธรรมมาเป็นทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  สร้างรายได้นับพันล้านบาท และเงินสะพัดในระบบนับแสนล้านบาท

keypoint:

  • คาดการณ์ว่าวันสงกรานต์ 2566 จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจราว 1.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
  •  องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย "สงกรานต์ในประเทศไทย"เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม 2566  
  • กระทรวงวัฒนธรรมมีการผลักดันวัฒนธรรมไทยมาเป็นทุนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในหลายส่วน ทั้งเทศกาลประเพณี ท่องเที่ยวชุมชน รวมถึง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ 

สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาฯที่จับต้องไม่ได้

    นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปี 2566 ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม 2566  จึงเป็นโอกาสเผยแพร่คุณค่าสาระ อัตลักษณ์ความงามของสงกรานต์ ประเพณีแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ได้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย 

สงกรานต์ 2566 เงินสะพัดแสนล้าน

วันสงกรานต์ 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)คาดรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปี 2565 ถือว่าทั้งจํานวนและรายได้ของตลาดในประเทศกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19
     ขณะที่ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า บรรยากาศสงกรานต์ปี 2566 สนุกสนานมากกว่าปีที่แล้ว คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจราว 1.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เทียบกับปีที่แล้วที่มีเงินสะพัด 1.06 แสนล้านบาท

16 เทศกาลประเพณีรายได้เพิ่ม 1 เท่าตัว
        วธ. บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งจังหวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันยกระดับเทศกาลประเพณี สู่นานาชาติต่อไป ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีงานเทศกาลประเพณีให้สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เบื้องต้นมี 16 เทศกาลประเพณี

      จากเป้าหมายเดิมจะทำให้เรื่องของงานวัฒนธรรมมีบทบาทผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่า จากเดิมเกือบ 8 % ขึ้นไปถึง 15 % เพราะฉะนั้นเทศกาลประเพณีที่มีการยกระดับ จากประมาณการของรายได้ เช่น งานศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีการประเมินตัวเลขจากครั้งก่อนอยู่ที่ 30-50 ล้านบาท อยากจะให้มีมูลค่าเพิ่ม 1 เท่าตัว หรือเป็น 100 ล้านบาท

     16 เทศกาลประเพณีได้ที่รับเลือกยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วย

1. ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว วันที่ 2 - 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

2. เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง วันที่ 10 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

 3. ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง จังหวัดน่าน

4. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชาอารยธรรมอีสาน” วันที่ 1 – 5 มีนาคม 2566 ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

5. ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช วันที่ 1 – 6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระมหาธาตุฯ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่องรายได้-เศรษฐกิจ เมื่อใช้ \'วัฒนธรรม\' เป็น \'ทุน\'ประเทศ

6. เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art วันที่ 10 – 12 มีนาคม 2566 ณ ถนนจอมพล และบริเวณใกล้เคียง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

7. เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” วันที่ 18 – 19 มีนาคม และ 22 มีนาคม 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์ สด๊กก๊อกธม อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว

8. เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ วันที่ 24 - 26 มีนาคม 2566 ณ สระพังทอง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

 9. เทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร วันที่ 19 – 27 พฤษภาคม 2566 ณ พื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

10. ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส วันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2566 ณ สวนสาธารณะ เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

11. เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี”     วันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์ไทใหญ่ศึกษา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

12. ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร วันที่ 7 – 13 กรกฎาคม 2566 ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราชริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

 13. เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” วันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2566 ณ วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 14. ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา วันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

15. เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ วันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2566 ณ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร และอุทยานฯ รัชกาลที่ 4 พระนครคีรี อำเภอเมืองเพชรบุรี

และ16. เทศกาลโคมแสนดวง ที่เมืองลำพูน วันที่ 25 กันยายน ถึง 8 พฤศจิกายน 2566 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน

ส่องรายได้-เศรษฐกิจ เมื่อใช้ \'วัฒนธรรม\' เป็น \'ทุน\'ประเทศ
เที่ยวชุมชนสร้างรายได้นับพันล้านบาท

     ขณะที่ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า วธ.ดำเนินโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” เพื่อคัดเลือกชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยว จากชุมชนทั่วประเทศกว่า 30,000 ชุมชน เป็นชุมชนคุณธรรมจำนวน 228 ชุมชน และคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ชุมชน ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ ดำเนินการในปี 2564 เป็นปีแรก จำนวน 10 ชุมชนและประจำปี 2565 จำนวน 10 ชุมชน  รวม 2 ปี  20 ชุมชน

     “ในปี 2564 สามารถทำรายได้กว่า 200 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อมีการประกาศสุดยอดชุมชนเพิ่มอีก 10 แห่งในปี 2565 จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นราว 700-800 ล้านบาท ”นางยุพากล่าว 

ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม 100 ล้านบาท

     วธ.ได้ดำเนินโครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(Cultural Product of Thailand : CPOT) ที่เน้นในเรื่องของการปรับโฉมให้มีภาพลักษณ์ร่วมสมัย และตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศ มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล

     นำไปสู่การสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์หวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพิ่มศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน

   วธ.เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ CPOT หากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จะถือเป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยที่น่าจับตามองอีกด้วย คาดในปีแรกจะสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 100 ล้านบาท