พร้อมรับมือโควิดสายพันธุ์ใหม่ แนะวิธีเช็คอาการก่อนเกิดโรค
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้นับเป็นที่ต้องเฝ้าจับตาดู เพราะหลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว การแพร่กระจายเชื้อนับว่ามีความรุนแรงขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังกับการระบาดของเชื้อโควิด-19
ตามคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยในตอนนี้ได้มีโควิดสายพันธุ์ ที่ชื่อ XBB.1.16 หรือ อาร์คตูรุส (Arcturus) ซึ่งเป็นโควิดที่ทางองค์การอนามัยโลกกำลังจับตามองว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นไปทั่วโลก รวมไปถึงในประเทศไทยด้วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ได้กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 เราเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย ที่เรียกกันแบบนี้เพราะเป็นสายพันธุ์ที่กําลังระบาดเป็นจำนวนมากที่อินเดีย ถ้าถามว่าสายพันธุ์นี้น่ากลัวมากแค่ไหน ก็คงตอบได้ว่าประมาณหนึ่งเลย เพราะมันระบาดและแพร่กระจายได้เร็วค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีรายงานว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งคนที่ต้องเฝ้าระวังมากสุดเห็นจะเป็นในกลุ่มคน 608
กลุ่มคน 608 คือ กลุ่มคนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคร่วมที่ต้องระวังตัวเอง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคปอด โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท พื้นฐานคนที่อายุ 60 ปีขึ้น โดยทั่วไปสุขภาพจะไม่แข็งแรงเท่ากับคน 60 ปีลงมา จัดเป็นกลุ่มคนที่ต้องทานยาอยู่เป็นประจำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็กอาการโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16
โดยอาการทั่วไปของผู้ที่ติดเชื้อ โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 จะมีอาการไม่ต่างเดิมมากนัก หลักๆ เลย คือ
มีอาการไอ เป็นไข้ตัวร้อน อาจจะมีไข้ขึ้นสูงถึง 38-39 องศาเซลเซียส มีอาการละคายคอ เจ็บคอ โดยที่เพิ่มเติมมาจากรายงานเป็นพิเศษคือจะมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ถ้าเป็นเด็กเล็กจะดูเหมือนตาแดง ผู้ใหญ่อาจจะมีตาแดงบ้าง มีขี้ตาออกเป็นจำนวนมาก หรือลืมตาไม่ขึ้น อาจจะมีอาการเคืองตา แสบตาบ้าง อาการทางตาของสายพันธุ์ 1.16 จะมีมากกว่าอันอื่นอย่างเห็นได้ชัด
นพ.สมศักดิ์ เสริมถึงวิธีการป้องกันไว้ว่า ควรป้องกันตัวเองเหมือนเดิม โดยมีระยะห่างระหว่างกัน (Social Distance) ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย คำแนะนำก็คือถ้าอยู่คนเดียวไม่ต้องใส่ในกลุ่มคนที่ปกติและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เข้าไปในที่ชุมชนหรือที่แออัด ถ้านั่งอยู่ในห้องทำงานคนเดียวก็ไม่ต้องใส่ แต่ถ้าเข้าไปในที่ชุมชน ก็ควรจะป้องกันตัวเองก็ควรจะใส่ สำหรับใครที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดมานานแล้วเกินหนึ่งปีก็ควรจะฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิ
ย้ำวิธีป้องกัน ดูแลกลุ่มเสี่ยง 608
ถ้าเป็นกลุ่ม 608 อาจจะต้องฉีดทุก 6 เดือนในช่วงนี้ เพราะว่ากลุ่ม 608 ถ้าเกิดติด โอกาสเกิดความรุนแรงจะมีมากกว่าคนปกติเป็นเท่าตัว หรือในกลุ่มคนอายุน้อยแล้วมีโรคร่วม ก็ต้องเฝ้าระวังตัวเองเช่นกัน ในการตรวจ ATK ยังสามารถตรวจได้อยู่ตามปกติ ถึงแม้โควิดหรือเชื้อจะกลายพันธุ์ ก็ยังตรวจ ATK ได้ผลอยู่ หรือถ้าในกลุ่ม 608 ที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่แน่ใจว่าภูมิไม่ขึ้น ก็แนะนำให้ไปฉีด Long Acting Antibody (LAAB) เพื่อป้องกันจะดีกว่าเพื่อการฉีดรักษา
ในสถานการณ์โควิดที่ต้องเฝ้าระวัง ทางโรงพยาบาลวิมุตเราก็ไม่นิ่งนอนใจ เราเตรียมความพร้อมและวางนโยบายมาตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ หากใครที่มาใช้บริการก็จะทราบว่าวิมุตเราแยกจุดตรวจโควิดไว้อยู่นอกอาคาร โดยจะมีจุดตรวจอยู่ด้านหลังโรงพยาบาล นับเป็นมาตรการแรกที่ทางเราใช้ป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล
โดยมีจุดตรวจแยกจากตัวอาคารชัดเจน หากตรวจพบว่ามีคนไข้ป่วย ทางวิมุตก็จะทำการส่งคนไข้เข้าไปที่วอร์ดหรือห้องพักคนไข้โดยตรง ซึ่งเป็นชั้นต่างหากแยกออกจากห้องพักคนไข้ทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ นอกเหนือจากนั้นโรงพยาบาลวิมุตเราก็มียาที่จําเป็นที่จะต้องใช้รักษาเตรียมไว้ให้อย่างครบถ้วน ซึ่งมั่นใจได้ว่าวิมุตจะดูแลท่านได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
นพ.สมศักดิ์ ยังเผยจำนวนคนไข้ของโรงพยาบาลวิมุตในตอนนี้มียอดผู้รับบริการของโรงพยาบาลวิมุตนับตั้งแต่วันที่ 1-18 เมษายนที่ผ่านมา จากผู้เข้าใช้บริการทั้งหมดจำนวน 485 ราย มีกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 142 ราย และกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง 14 ราย ในกลุ่มผู้ป่วยสีแดงยังไม่พบก็จริง แต่ก็ไม่ควรละเลย ทั้งนี้ยังฝากพี่น้องประชาชนว่า ช่วงนี้ถ้าใครที่มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่อายุมาก หรือมีญาติพี่น้องที่มีโรคประจําตัว หากไปในที่ชุมชนหรือที่แออัด ก็ควรใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยง
หากใครที่สงสัยว่ามีอาการ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อโรงพยาบาลวิมุต ได้ที่เบอร์โทร 02-079-0000 หรือติดตามข่าวสารของโรงพยาบาลวิมุตได้ที่ เว็บไซต์ , เฟซบุ๊ก , อินสตาแกรม: vimut_hospital, ไลน์: @vimuthospital ,TikTok : @vimuthospital , Youtube