'รพ.ลานกระบือ' ผสานศาสตร์การแพทย์ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง
รพ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ผสานศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน-แพทย์แผนไทย ดูแลผู้ป่วยระยะกลางอย่างเต็มระบบ ลดโอกาสพิการ ด้าน สปสช. ลงพื้นที่ดูการบริการ ชมหน่วยบริการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่โรงพยาบาลลานกระบือ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง (Intermediate Care : IMC) ด้วยการกายภาพบำบัด และบริการแพทย์แผนไทยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีนพ.อภิลักษณ์ เหล่าไพโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลานกระบือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บุคลากรแพทย์ ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลลานกระบือ ให้บริการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายผู้ป่วยระยะกลางตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และยังจัดให้มีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเต็มรูปแบบ (Intensive rehabilitation) โดยมีการผสมผสานกับศาสตร์แพทย์แผนไทยเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งการนวด ประคบสมุนไพร อบสมุนไพร รวมถึงการสักน้ำยาสมุนไพร
พร้อมกันนี้ ยังมีทีมสหวิชาชีพประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ แพทย์แผนไทย และพยาบาลจิตเวช เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยระยะกลางมีความต่อเนื่อง หลังจากได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลลานกระบือ และออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว โดยจะมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดในเวลาไม่เกิน 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยพิการ หรือมีภาวะทุพพลภาพตลอดชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช.ดึงเครือข่ายชาติพันธุ์-กลุ่มความหลากหลายทางเพศดันสิทธิบัตรทอง
- บัตรทอง ป่วยโรคทั่วไป 42 กลุ่มโรค/อาการ พบแพทย์ออนไลน์ฟรี ผ่านแอป MorDee
- ขั้นตอน จองคิว ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 'สิทธิบัตรทอง' เฉพาะพื้นที่ กทม. เช็กเลย
นพ.อภิลักษณ์ เหล่าไพโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลานกระบือ กล่าวว่า การจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลาง หรือ IMC ของโรงพยาบาลลานกระบือ ส่วนใหญ่จะดูแลผู้ป่วย 4 โรค หรืออาการบาดเจ็บ ที่ผ่านการรักษาแล้วและต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ คือ
1.อาการเส้นเลือดสมองแตก ตีบ
2.อุบัติเหตุทางสมอง
3.บาดเจ็บไขสันหลัง
4.บาดเจ็บไขข้อสะโพก
ซึ่งทุกอาการมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว หากดูแลไม่ดีจะมีโอกาสพิการได้สูง ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการฝึกการเคลื่อนที่บนเตียง การนั่ง การทรงตัว การยืน และการฝึกเดิน รวมถึงการฝึกทำกิจวัตประจำวันเพื่อช่วยเหลือตัวเองในด้านต่างๆ ทั้งการฝึกกลืนอาหาร การฝึกขับถ่าย ซึ่งการฟื้นฟูสุขภาพของโรงพยาบาลลานกระบือ ยังเสริมการแพทย์แผนไทย
นพ.อภิลักษณ์ กล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลลานกระบือยังมีการติดตามอาการของผู้ป่วยระยะกลางอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่กับโรงพยาบาลลานกระบือ และโรงพยาบาลกำแพงเพชร คือระบบ Smart COC ที่สามารถติดตามอาการของผู้ป่วย รวมถึงสอบถามอาการของผู้ป่วยได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ และยังเป็นการปรึกษาอาการของผู้ป่วยระหว่างบุคลากรการแพทย์ด้วยกันได้อีกด้วย
“โรงพยาบาลลานกระบือ ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ IMC รวมถึงยังมีบริการการแพทย์แผนไทยอย่างครบวงจร ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีมากขึ้น และที่สำคัญคือเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน และโรงพยาบาล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลานกระบือ กล่าว
นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ กล่าว่า โรงพยาบาลลานกระบือ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีการให้บริการสุขภาพแบบผสมผสาน ระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย รวมไปถึงมีการสนับสนุนการใช้สมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจากท้องถิ่นด้วย อีกทั้ง ยังช่วยให้ประชาชนในชุมชนได้มีรายได้เสริมจากการปลูกสมุนไพร เพื่อขายให้กับโรงพยาบาลในการนำไปปรุงยา ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การให้บริการแพทย์แผนไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะต้องใช้กำลังคน สถานที่ในการให้บริการ แต่ทั้งนี้ สิ่งที่กลับมาคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไข้ หรือผู้มาใช้บริการกับโรงพยาบาล เพราะแพทย์แผนไทยจะใส่ใจกับผู้ป่วย และใช้ระยะเวลาในการรักษามากกว่า ซึ่งอาจเหมาะกับคนสูงอายุ
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ต้องชื่นชมโรงพยาบาลลานกระบือ ที่เป็นหน่วยบริการที่สามารถจัดบริการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยระยะกลางได้อย่างเป็นระบบและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทำให้ผู้ป่วยระยะกลางในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค และอาการที่ผ่านการรักษาแล้วและต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ โดยมีการวัดคะแนนกิจวัตรประจำวัน หรือ ADL ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 63.16% ในปี 2563 เป็น 95.24% ในปี 2566
นอกจากนี้ การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทยเข้ามาช่วยด้วย ทำให้สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้นด้วย
“การดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสมอง หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมอง หรือสโตรก แม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้วแต่หากไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหว และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่หากได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มระบบ จะสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ หรือกลับเข้าสู่สังคม ทำงาน หรือประกอบอาชีพได้ ซึ่งทั้งหมดมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ สปสช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลลานกระบือ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมบ้านผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ที่ผ่านการรักษาและได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ระยะกลางจากโรงพยาบาลลานกระบือ โดยแต่เดิมไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ด้วย โดยวัดคะแนนกิจวัตรประจำวัน หรือ ADL ได้ 8 คะแนน แต่เมื่อผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างเต็มรูปแบบ จากทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลลานกระบือ ทำให้คะแนน ADL เพิ่มขึ้นเป็น 19 คะแนนในระยะเวลา 4 เดือน โดยผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ