โอกาสการครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (2) | ฐาปนา บุณยประวิตร

โอกาสการครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (2) | ฐาปนา บุณยประวิตร

องค์การอนามัยโลก จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศของเอเชียที่มีขีดความสามารถสูงด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ การจัดลำดับครั้งนี้ยืนยันได้จากผลการเผชิญเหตุและการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยมีศักยภาพสูงด้านการแพทย์และบริการสุขภาพ เนื่องจากไทยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การยกระดับสมรรถนะบุคลากร และการพัฒนาทางวิชาการไว้มาก ที่สำคัญได้แก่ การวางโครงข่ายบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ 

โครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่สนับสนุนขีดความสามารถของไทยมีอยู่ 4 ฐานหลัก 

ฐานที่ 1 ได้แก่ โรงเรียนแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ฐานนี้ตั้งอยู่หนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นศูนย์นำ ภาคเหนือมีสองศูนย์หลักได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นพี่ใหญ่ของพื้นที่อีสานตอนกลางและตอนบน อีสานล่างมีฐานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภาคใต้มีฐานใหญ่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งศูนย์กลางหาดใหญ่และวิทยาเขตภูเก็ตที่รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณ 5,116 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์การแพทย์และสุขภาพนานาชาติอันดามัน และฐานการแพทย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ฐานที่ 2 เป็นฐานการฝึกอบรม บริการการแพทย์ และบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลเฉพาะทางกระจายทั่วทุกภูมิภาค ฐานนี้ให้บริการโดยบุคลากรคุณภาพสูงพร้อมระบบบริการประกันสุขภาพของรัฐที่ให้บริการสำหรับประชาชนทุกคน 

ฐานที่ 3 เป็นบริการทางการแพทย์และสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชน ฐานนี้ปัจจุบันเป็นหน่วยบริการทางการแพทย์สำคัญแก่ผู้ป่วยและนักท่องเที่ยวสุขภาพจากต่างประเทศ

โอกาสการครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (2) | ฐาปนา บุณยประวิตร

 ข้อมูลล่าสุดพบบางกิจการได้ทำความตกลงให้ประกันสุขภาพกับเครือข่ายประกันสุขภาพระหว่างประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยและนักท่องเที่ยวการแพทย์เดินทางเข้ารักษาพยาบาล ส่งเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าสู่ประเทศ โครงสร้างพื้นฐานนี้ ไม่นับรวมหน่วยบริการการแพทย์พื้นถิ่น หรือการแพทย์ทางเลือกและบริการเวลเนส ที่กระจายหนาแน่นอยู่ทั่วประเทศ

ฐานที่ 4 ได้แก่อุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ ซึ่ง GWI ชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ 4 เป็นแกนกลางสำคัญของนิเวศที่เป็นปัจจัยหนุนเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

อุตสาหกรรมที่กล่าวถึงในวันนี้ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยาและชีวเภสัชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร 

อุตสาหกรรมยาและชีวเภสัชภัณฑ์ กรุงไทย Compass (2565) รายงานว่า ตลาดยาของโลกในปี พ.ศ.2580 จะมีมูลค่า 2.15 ล้านล้านเหรียญ อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ต่อปี สำหรับตลาดยาของไทยในปี พ.ศ. 2580 จะมีมูลค่า 2.79 แสนล้านบาท อัตราการเติบโตระหว่างปี พ.ศ.2562-2580 เฉลี่ยร้อยละ 5.4

 ศูนย์วิจัยกรุงศรี (2565) รายงานว่า ยาที่ผลิตในประเทศ ประมาณร้อยละ 95 บริโภคภายในประเทศผ่านโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 60 โรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 20 ร้านขายยาร้อยละ 20 และร้อยละ 5 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ในปี พ.ศ.2563 ตลาดยาของไทยมีมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท

โดยอุตสาหกรรมยาชีวเภสัชภัณฑ์มีสัดส่วนร้อยละ 34 เทียบจากมูลค่าอุตสาหกรรมยาโดยรวม โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 10.6 ต่อปี

    อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ปี พ.ศ.2562 อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ของโลก มีมูลค่าตลาด 463.7 พันล้านเหรียญ กรุงไทย Compass (2565) คาดการณ์ในปี พ.ศ.2580 มูลค่าตลาดประมาณ 744.1 พันล้านเหรียญ เติบโตร้อยละ 6.1

สำหรับไทย มูลค่าตลาดในปี พ.ศ.2562 เท่ากับ 1,809.6 ล้านเหรียญ ประมาณการในปี พ.ศ.2580 มูลค่า 3,381.7 ล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2564 ไทยส่งออกเครื่องมือแพทย์เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ส่วนวัสดุด้านการแพทย์ที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมาก ส่งออกเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

หากจำแนกตามสาขาย่อยพบว่า ไทยส่งวัสดุทางการแพทย์ในสัดส่วนที่มากที่สุดร้อยละ 92 ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ร้อยละ 7 และน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคร้อยละ 1

ตามเป้าหมายหลักของ BCG Model ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์คือ เพิ่มการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์จากบัญชีนวัตกรรมของไทยอย่างน้อยร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรมและการผลิตในประเทศ หรือสร้างรายได้หรือผลบวกทางเศรษฐกิจประมาณ 4 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (พ.ศ.2564-2568)

โอกาสการครองตลาดเวลเนสโลกของไทย (2) | ฐาปนา บุณยประวิตร

    อุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ Global Medical Foods Market (2022) รายงานว่า ในปี พ.ศ.2565 ตลาดมีมูลค่า 19.56 พันล้านเหรียญ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2570 ตลาดจะมีมูลค่า 26.55 พันล้านเหรียญ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ระหว่างปี พ.ศ.2565-2570

U.S.Food and Drug Administration (FDA) แบ่งอาหารทางการแพทย์ออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย nutritious full products, nutritionally incomplete Products, metabolic deficiency formulations และ oral rehydration solutions ซึ่งอาหารการแพทย์ทั้ง 4 กลุ่มไทยอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา โดยอุตสาหกรรมสองกลุ่มแรกมีการลงทุนผลิตแล้วในพื้นที่ภาคเหนือ
    

อุตสาหกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (2565) รายงานว่า ปี พ.ศ.2564 การค้าปลีกตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่า 54,957 ล้านเหรียญ ตลาดเอเซียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดหรือมีมูลค่า 31,933 ล้านเหรียญ รองลงมาเป็นตลาดอเมริกาเหนือ 8,639 ล้านเหรียญ ยุโรปตะวันตก 8,616 ล้านเหรียญ และลาตินอเมริกา 2,581 ล้านเหรียญ

สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทย ในปี พ.ศ.2564 ที่ 45,646 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์บำรุงกำลังมีความต้องการลดลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทเสริมอาหารมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น

จากการคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี พ.ศ.2569 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 59.5 พันล้านบาท ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ในกลุ่ม plants and part of plants ไทยส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุดที่ 144.83 ล้านบาทในปี พ.ศ.2564 อัตราการขยายตัวร้อยละ 2.2 รองลงมาเป็นตลาดญี่ปุ่นที่ 94.70 อัตราการขยายตัวร้อยละ 9.83

ส่วนสมุนไพรกลุ่ม vegetable saps and extracts ไทยส่งออกไปยังเมียนมาสูงสุดที่ 112.60 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 46.61 รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ 69.61 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ -32.35 อันดับที่สามประเทศสหรัฐฯ ที่ 26.76 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 160.88

    จะเห็นได้ว่า ฐานหลักทั้ง 4 ฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมทั้ง 4 สาขา ไม่รับรวมอุตสาหกรรมประกันสุขภาพ และอุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนา การลงทุนในไทยอยู่ในภาวะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก

อุตสาหกรรมนี้กำลังถูกแปลงให้เป็นเสาหลักของโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่จะหนุนเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว มีศักยภาพและขีดความสามารถสูงในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศ

สำหรับบทความในตอนที่ 3 จะกล่าวลงลึกการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพจำนวน 9 บริเวณ พร้อมด้วยกลไกผลักดันให้เกิดความสมบูรณ์ของนิเวศและซับพลายเชน นำไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพของโลก.
คอลัมน์ Wellness Districts Focus
ฐาปนา บุณยประวิตร
นายกสมาคมการผังเมืองไทย
เลขานุการกฎบัตรไทย
[email protected]