อีก 30 วัน จะชัดเจน แก้บุคลากรสาธารณสุข งานล้น
ใกล้ได้ข้อสรุปแล้วสำหรับปัญหาบุคลากรทางการแพทย์แห่ลาออก หลังเจอกับภาระงานหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้นจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันมากขึ้น
ผลการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เรื่องภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขหนัก ส่งผลให้มีการลาออกจากระบบ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มีความเห็นตรงกันว่า ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น มีหลายสาเหตุ ทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงวัยเข้ารับบริการการแพทย์เพิ่มขึ้น การดูแลผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน นโยบายหลักประกันสุขภาพทำให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น รวมทั้ง รพ.สต. บางแห่งไม่สามารถจัดบริการประชาชนได้เหมือนเดิม ทำให้ประชาชนต้องกลับมารับบริการที่ รพ. ของ สธ.
การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบบุคลากรสาธารณสุขให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป สร้างแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง โดยจะมีการเพิ่มจำนวนตำแหน่งของข้าราชการให้ได้อยู่ในกรอบขั้นสูง อาทิ ต้องมีแพทย์ในระบบสาธารณสุขประมาณ 35,000 คน พยาบาล 140,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนวิชาชีพอื่นๆ ด้วย
ขณะเดียวกันต้องมีการปรับระบบฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน โดยให้แพทย์ที่ลาอบรมแพทย์ประจำบ้านปีละ 4,000 คนอยู่ในพื้นที่มากที่สุด โดยปี 2, ปี 3 จะมีทักษะมากควรจะอยู่ในพื้นที่ และฝึกใน รพ. สังกัด สธ. ที่มีความสามารถเป็นศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้ 48 แห่งทั่วประเทศโดยให้เป็นการไปทำงานและสามารถที่จะอยู่ปฏิบัติงานฝึกอบรมและได้วุฒิบัตรด้วย วิธีนี้จะสามารถคงอัตรากำลังไว้ในพื้นที่ได้ปีละ 1,500 คน
รวมทั้งจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ใช้ทุนปี 1 ให้ สธ. อย่างเพียงพอต่อภาระงานประมาณปีละ 85% จากปัจจุบันที่ สธ. ได้รับจัดสรรปีละราว 1,900-2,000 คน หรือคิดเป็น 70% แต่มีภาระงานในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 88 % ทำให้แพทย์ต้องทำงานหนัก เพราะภาระงานมีมากกว่าแพทย์ที่ไปใช้ทุน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวการผลิตแพทย์ ในส่วนของหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD มีอัตราการคงอยู่ในระบบที่ 80-90% จะมีการขยายจำนวนของนักศึกษาให้ได้ปีละ 2,000 คน ทั้งหมดนี้ต้องได้เห็นความเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน มีมาตรการและสามารถลงมือปฏิบัติได้
อย่างไรก็ตามปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์ที่ลาออกจากระบบสาธารณสุข จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากภาระงานที่ล้นทำให้ทำงานหนักจนไม่สามารถแบกรับได้ สุดท้ายก็ลาออกจากระบบไป การเพิ่มจำนวนแพทย์มากขึ้น ทั้งการผลิตและการจัดสรรต้องทำควบคู่ไปกับการจัดสรรภาระงานให้สอดคล้องกับกำลังคนและสภาพความเป็นจริงและการบริหารจัดการให้ตรงกับศักยภาพของบุคลากร
ท้ายที่สุดสิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนหันมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และพบแพทย์เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และปรับปรุงนิยาม “สิทธิ” รักษาตามสิทธิให้ตรงสภาพความเป็นจริง และอาจจะต้องถึงเวลาที่ต้องมีการจัดลำดับอาการเจ็บป่วยมากน้อยแค่ไหน ถึงจะสามารถพบแพทย์ได้และหาแนวทางให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง “ร่วมจ่าย” ก็จะทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิ 45 ล้านคน เข้าถึงแพทย์น้อยลงได้