ไทยผลิตวัคซีนได้เองแค่ 3 ตัว อภ.จับมือบริษัทเกาหลีผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง
อภ.จับมือ บริษัท SK bioscience ของเกาหลี ร่วมมือผลิตวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่จากเซลล์เพาะเลี้ยง สร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และภูมิภาค จากที่ปัจจุบันไทยผลิตวัคซีนได้เองเพียง 3 ตัว
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดย แพทย์หญิงมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กับ บริษัท SK bioscience Co., Ltd. สาธารณรัฐเกาหลี โดย Mr. Ahn Jae Yong,CEO บริษัท SK bioscience Co., Ltd และ Mr. Jeon Joyoung อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายการดูแลสุขภาพของประชากรทุกคน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกัน ควบคุม ลดการป่วยรุนแรง และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เช่นเดียวกับ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง และรวดเร็วถือเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้
และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) “Thailand-IVI Ratification Ceremony” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อระดมความร่วมมือจากนานาชาติในการสร้าง “อนาคตของวัคซีนเพื่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศ” โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดการส่งเสริมความร่วมมือ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีน
การพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัคซีนนั้น ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคลากรทางด้านวัคซีนต้องปรับตัว และเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเปรียบเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้ และความเชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความมั่นคง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนที่สำคัญต่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น การลงนามในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างเต็มที่
ร่วมมือผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยง
พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับใช้ในกรณีที่มีการระบาดและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จนประสบความสำเร็จ และจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรม ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างศักยภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ โดยเริ่มวิจัย และพัฒนาการผลิตวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ (Egg-based technology) นอกจากนี้ยังได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based technology)
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือกับ SK bioscience Co., Ltd ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดเชื้อตายจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Cell-based inactivated influenza) ชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ ในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุ (Ready to fill bulk) และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการบรรจุ เพื่อการผลิตวัคซีนสำเร็จรูป (Drug product) โดยองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้มีการใช้สถานที่และระบบสนับสนุน (Facility and Utility) ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และ ความชำนาญให้กับบุคลากรอีกด้วย
บริษัท SK bioscience Co., Ltd จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิตและองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อสร้างมาตรฐานในระดับสากล เช่น WHO Prequalification รวมทั้งการศึกษาโอกาสที่จะตั้งโรงงานผลิตตัวยาสำคัญ (Drug substance) ในประเทศไทย หรือใช้สถานที่และระบบสนับสนุนขององค์การเภสัชกรรม ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานของภาครัฐ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย เพื่อสร้างศักยภาพในการรองรับการระบาดใหญ่ (Pandemic) การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวจะขยายขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนสำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและตอบสนองด้วยการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคอาเซียน
คาด 1 ปีสำเร็จล็อตแรก
ผู้สื่อข่าวถามถึงระยะเวลาในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการได้ใช้วัคซีนนี้ของคนไทย พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า หลังจากลงนามจะมีการตกลงกันเรื่องความร่วมมือในเชิงของราคา โดยตกลงกันเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ปีหน้าน่าจะได้ตัววัคซีนในรูปแบบของวัคซีนพร้อมบรรจุหรือแบบแบ่งบรรจุ ซึ่งเป็นลักษณะของกลางน้ำ จากนั้นจะเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลย คาดว่าไม่เกิน 2 ปี
อภ.เล็งร่วมมือต่อวัคซีนงูสวัด
ถามถึงวัคซีนตัวอื่นที่ อภ.จะผลิต พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า วัคซีนที่อยู่ในไปป์ไลน์ของ อภ. มีทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด GPO Vac ซึ่งวัคซีนโควิดนี้ ตอนนี้ได้ผ่านการทดลองระดับคลินิกเฟสที่ 3 เรียบร้อยแล้ว กำลังรอผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันซึ่งเราต้องส่งไปทดลองยังห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับระดับโลก อย่างอินเดีย โดยผลจะตอบกลับมาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หากผลการทดสอบผ่านเป็นที่น่าพึงพอใจ ก็จะเข้าสู่เฟส 4 เพื่อผลิตและทดลองในคนจำนวนมากขึ้น ตลอดจนขึ้นทะเบียนวัคซีนให้สำเร็จ และพร้อมจำหน่ายต่อไป คาดการณ์ว่าหากผ่านการทดลองต่างๆ น่าจะเป็นช่วงปี 2567 ที่จะนำมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นให้คนไทยได้
“การลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวใหญ่ เพราะเกาหลีใต้มีเรื่องการผลิตวัคซีนอื่นๆ อีกหลายตัว ที่มองไว้ว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัน เช่น วัคซีนป้องกันงูสวัด เป็นต้น”พญ.มิ่งขวัญ กล่าว
ไทย-เกาหลีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง
Mr. Jeon Joyoung อุปทูตรักษาสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่างองค์การเภสัชกรรมและบริษัท SK bioscience Co., Ltd จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการผลิตวัคซีนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิดต่างๆ รัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลี จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
Mr. Ahn Jae Yong ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SK bioscience Co., Ltd กล่าวว่า บริษัท SK bioscience เป็นบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนและผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีชีวภาพ ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา และการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่าง เท่าเทียมกัน และสามารถรับมือกับการระบาดของโรคต่างๆ ที่จะมีในอนาคต ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลี รัฐบาลของประเทศต่างๆ หน่วยกำกับดูแลด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ และพนักงานของบริษัท SK bioscience มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน
ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัท SK bioscience สถานที่และกระบวนการผลิตขององค์การเภสัชกรรม และการสนับสนุนจากหน่วยกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของทั้ง 2 ประเทศ จะทำให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่ง และสามารถรับมือกับการระบาดของโรคต่างๆ ที่จะมีในอนาคต SK bioscience จะยืนหยัดในการสนับสนุน และผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณสุขทั่วโลก SK bioscience มุ่งมั่น และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในระดับสากล โดยอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา
และการผลิตที่เป็นสากล SK bioscience จะถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลาง ที่มีข้อจำกัดในการผลิตวัคซีน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน SK bioscience กำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับรัฐบาล และบริษัทท้องถิ่น ในประเทศต่างๆ ทั้งในตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือ ในระดับสากล
ไทยผลิตวัคซีนได้เอง 3 ตัว
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนที่ประเทศไทยผลิตได้เองในปัจจุบัน ได้แก่ 1.วัคซีน BCG หรือวัคซีนป้องกันวัณโรค ผลิตโดยสถานเสาวภา 2.วัคซีนไอกรน ชนิดไร้เซลล์ ของบริษัท ไบโอเนท เอเชีย และ3.วัคซีน JD ป้องกันไข้สมองอักเสบ เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแบ่งบรรจุ โดยบริษัท โกลบอล ไบโอเทค โปรดักส์ จำกัดเป็นบริษัทร่วมทุนของอภ. นอกจากนี้ มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของอภ.คาดว่าน่าจะได้ขึ้นทะเบียนในปี 2566 และกำลังจะร่วมมือกับบริษัท SK เช่นกันในส่วนของวัคซีนงูสวัด
“วัคซีนที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงเป็นเทคโนโลยีใหม่ หวังว่าจากที่ได้เริ่มทำความร่วมมือแล้วจะได้ต่อยอดสำหรับการวิจัยและผลิตวัคซีนเองในตัวอื่นๆ จากเซลล์ต่อไป ซึ่งสำคัญมากไว้สำหรับรับมือการระบาดใหญ่ เพราะทำให้เร็วกว่าในการผลิต”นพ.นครกล่าว
แผนความมั่นคงวัคซีนของไทย
นพ.นคร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสถาบันวัคซีนฯได้ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศไทยไปแล้วอย่างมาก อย่างเช่น สร้างศักยภาพของการวิจัยและพัฒนาของการผลิตวัคซีนในแพลตฟอร์มที่สำคัญ โดยวัคซีนmRNA สนับสนุนให้ทุนทีมของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับไบโอเนท เอเชีย ,วัคซีนไวรัล แว็กเตอร์ สนับสนุน สวทช. ไบโอเทค มจธ. สยามไบโอไซน์เอนซ์,วัคซีนเชื้อตาย สนับสนุน อภ.และวัคซีนซับยูนิตโปรตีน สนับสนุนบริษัทไบยา
นอกจากนี้ มีทีมสัตว์ทดลองได้มาตรฐาน มีทีมวิจัยในคน ทั้งหมดคือ ทีมประเทศที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ตอนนี้ไปข้างหน้า ในการรักษา และเพิ่มพูนศักยภาพ อีกทั้ง พยายามหาความร่วมมือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมพัฒนา ทำให้ไทยดำเนินการได้เร็วขึ้น
“การสนับสนุนหลากหลายแพลตฟอร์มในการผลิตวัคซีน ทำให้โอกาสในผลิตวัคซีนได้เองในการรับมือโรคต่างๆ มีมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าโรคใหม่ที่จะมีการระบาดคืออะไร และไม่รู้ว่าแพลตฟอร์มไหนจะใช้ได้ดี ซึ่งโรคโควิด-19 อาจจะบอกเราได้แบบหนึ่ง แต่ถ้าเจอโรคใหม่อาจเป็นอีกแบบก็ได้ เหมือนตอนที่ไม่มีโควิด-19 คนก็ยังไม่รู้จักวัคซีน mRNA วัคซีนไวรัลแว็กเตอร์ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมต่อไปข้างหน้า และเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน หวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนต่อเนื่อง”นพ.นคร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์