ฟ้าสีรุ้ง-SWING’ เสริมแกร่ง ‘ระบบบัตรทอง 30 บาท’ ป้องกันเอชไอวี

ฟ้าสีรุ้ง-SWING’ เสริมแกร่ง ‘ระบบบัตรทอง 30 บาท’ ป้องกันเอชไอวี

‘ฟ้าสีรุ้ง-SWING’ เสริมแกร่ง ระบบบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ แก่คนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ตั้งเป้าประเทศไทย ยุติปัญหาเอดส์ ป้องกันเอชไอวี เพิ่มการเข้าถึงให้ทุกสิทธิรักษา บริการ ‘ยาต้านไวรัสวันเดียว’

ก่อนปี 2565 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Association of Thailand: RSAT) หรือเรียกสั้นๆ ว่า 'ฟ้าสีรุ้ง' และ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Service Workers in Group Foundation: SWING) หรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักมากกว่าคือ 'สวิง' สาขา จ.ชลบุรี เป็นสององค์กรภาคประชาสังคมที่จดทะเบียนเป็น 'คลินิกเทคนิคการแพทย์' และได้ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) และบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ใน 'ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' (บัตรทอง) แก่ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ) ภายใต้การแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ต้องการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ให้ได้ในปี 2573 ผ่านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ 2560-2573 

 

ด้วยลักษณะเฉพาะขององค์กรภาคประชาสังคมที่มีจุดเด่นในการให้บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ที่มีความจำเป็นและต้องการมารับบริการมากกว่าสถานพยาบาลของรัฐ และเหมาะสมในการให้บริการไม่ว่าจะเชิงรุก หรือเชิงรับ

 

ทั้งเวลาเปิด-ปิดที่ยืดหยุ่นกว่าเวลาราชการ สภาพแวดล้อมของสถานที่ที่เอื้อและเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ เนื่องจากต้องการ 'ลดการตีตรา' โดยให้ความสำคัญกับการไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดความสบายใจที่สุด และอื่นๆ อีกมากมาย จึงช่วยให้มีการเข้าถึงบริการป้องกันเอชไอวี และเข้าสู่ 'กระบวนการรักษา' เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

ฟ้าสีรุ้ง-SWING’ เสริมแกร่ง ‘ระบบบัตรทอง 30 บาท’ ป้องกันเอชไอวี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

หน่วยบริการรับส่งต่อด้านเอชไอวี

ทว่า เหล่านี้เป็นไปโดยการทำสัญญาดำเนินการตามโครงการแบบปีต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือระหว่างรอยต่อเพื่อต่อปีงบประมาณใหม่นั้น 'เกิดช่องว่าง' ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง หรือให้บริการได้น้อยลง เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบชับไวจบปุ๊ปต่อปั๊ปทำได้เลย

 

ดังนั้น เมื่อปีที่แล้วองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความพร้อมในการให้บริการกว่า 60 แห่ง จึงเสนอมายัง สปสช. เพื่อให้ขึ้นทะเบียนพวกเขาเป็น 'หน่วยบริการรับส่งต่อด้านเอชไอวี' ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ต่อมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศโดยกำหนดให้ 'องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน' เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565

 

ทำให้องค์กรภาคประชาสังคม 16 แห่ง รวมถึง “ฟ้าสีรุ้ง” และ “สวิง” ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานด้านการให้บริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนโดยกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเริ่มดีเดย์ให้บริการแบบไร้รอยต่อเมื่อ 1 ต.ค. ปี 65

 

มาวันนี้ใกล้ครบ 1 ปีแล้วของการเป็นหน่วยบริการแบบเต็มตัว เนตรนภิศ มณีเนตร หัวหน้างานคุณภาพและบริการชลบุรี 'คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง เมืองชลบุรี' บอกว่าด้วยการทำงานโดยไม่ถูกกรอบระยะเวลามากำหนด ทำให้สามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ทุกพื้นที่แบบไม่มีข้อจำกัด ที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกันกับหน่วยบริการอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งช่วยขยายการให้บริการได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ฟ้าสีรุ้ง-SWING’ เสริมแกร่ง ‘ระบบบัตรทอง 30 บาท’ ป้องกันเอชไอวี

 

ทั้งการตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี บริการถุงยางอนามัย รวมถึงติดตามสถานะการติดเชื้อ ตลอดจนการให้คำปรึกษา ตรวจเลือด และส่งต่อต่อไปยังโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งได้ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพด้านการป้องกันเอชไอวี เพื่อให้ยาป้องกัน (PrEP) ในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี หรือการรักษาแก่ผู้ติดเชื้อ สำหรับทุกสิทธิการรักษา

 

ปลายทางจึงเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) รวมถึงลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จากสถิติตั้งแต่ขึ้นทะเบียนมาจนถึงวันนี้มีผู้รับบริการที่ 'คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง เมืองชลบุรี' มากถึง 3,700 ราย ซึ่งเขย่าให้แนวโน้มผู้ติดเชื้อเอชไอวีในภาพรวมของ จ.ชลบุรี ลดลงด้วย

 

เข้าถึง ยาต้านไวรัสภายใน 24 ชั่วโมง

ส่วน 'สวิงพัทยา คลินิกการแพทย์' ได้ต่อยอดไปถึงการให้บริการ 'ยาต้านไวรัสภายใน 24 ชั่วโมง' (Same Day ART) ได้แล้ว สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะมีแพทย์จากโรงพยาบาลบางละมุง ที่ได้ทำ MOU กัน คอยให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายยา ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือผ่านแอปพลิเคชันไลน์ 

 

บริการดังกล่าวเป็นความสำเร็จจากการทดลองวิจัยร่วมกัน 4 หน่วยงาน อันประกอบด้วย “สวิง ” องค์กรพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) องค์การแฟมิลี่เฮลท์เนชั่นแนล (FHI 360) และมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) 

 

ก่อนที่จะเสนอต่อ สปสช. และ สธ. เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันผ่านโรงพยาบาลบางละมุง เหมือนเป็นการนำร่องก่อน จนสุดท้ายประสบความสำเร็จและเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ก.พ. 2566 

 

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิสวิง อธิบายว่าการเกิดขึ้นของบริการนี้มาจากการเห็นช่องว่างในการให้บริการ เพราะความเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์ 'สวิง' สามารถค้นหาและคัดกรองได้ แต่ไม่สามารถจ่ายยาเองได้ ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลบางละมุง ซึ่งกระบวนการหลังนี้ทำให้ผู้รับบริการ ได้รับยาช้ากว่าที่ควร คือ อาจต้องรออีก 1 วัน หรืออาจช้าถึง 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน เลย 

 

ฟ้าสีรุ้ง-SWING’ เสริมแกร่ง ‘ระบบบัตรทอง 30 บาท’ ป้องกันเอชไอวี

 

ผู้รับบริการที่เข้าสู่ขั้นตอนนี้จำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้รับยา เพราะเปลี่ยนใจ เนื่องจากติดเงื่อนไขในการทำงานและกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน และขาดการติดต่อจาก “สวิง” ไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ 

 

ดังนั้น Same Day ART จึงตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด และทำให้ 'สวิงพัทยา คลินิกการแพทย์' กลายเป็นหน่วยบริการแบบ One-Stop Service คือ ครบจบที่เดียวในด้านบริการเอชไอวี อย่างไรก็ดี สิ่งนี้อาจไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เกิดการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ สปสช. ที่ได้ให้องค์กรภาคประชาชนสังคมได้เข้ามาเป็นหน่วยบริการ 

 

“มันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าระบบบริการสุขภาพของประเทศให้ความสำคัญและคุณค่ากับหน่วยบริการภาคประชาสังคม หรือชุมชน ยอมรับในการให้บริการของพวกเรา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเราล้ำหน้าว่าการให้บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านเอชไอวีไม่ต้องผูกติดกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหน่วยบริการของรัฐเท่านั้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิสวิง กล่าว