เตรียมระบบ 'บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารพ.ได้ทุกที่'นำร่อง 4 จังหวัด 1 ม.ค.67
สธ. สร้างความเข้าใจบุคลากรรัฐ-เอกชน เตรียมพร้อมระบบ 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษา ได้ทุกที่' เริ่มนำร่อง 4 จังหวัด แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด นราธิวาส วันที่ 1 ม.ค.2567 และ 4 เขตสุขภาพใช้ได้ทุกสถานพยาบาลในสังกัด ก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ
Keypoint:
- บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ พร้อมบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง เริ่ม 1 ม.ค.2567
- เดินหน้าสร้างความเข้าใจบุคลากรทางการแพทย์ รัฐ-เอกชน เตรียมพร้อมระบบ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษา ได้ทุกที่”
- สถานพยาบาลทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันของทั้ง 4 เขตสุขภาพนำร่องไม่ใช่ว่าจะสามารถเข้าไปรับบริการได้ทุกที่
'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคได้ทุกที่' เริ่ม 4 จังหวัดนำร่อง แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาสในวันที่ 1 มกราคม 2567 และ 4 เขตสุขภาพ จำนวน 27 จังหวัด เป็นหนึ่งใน 13 นโยบาย Quick Win ที่ ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ประกาศนโยบายสาธารณสุข ปี 2567 จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นภายใน 100 วันแรก
โดยบุคคลที่จะมีสิทธิเข้ารับบริการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง
ปัจจุบันมีอยู่ราว 40 กว่าล้านคน เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถไปรับบริการ รพ.นอกเหนือจาก รพ.ตามสิทธิได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
ส่วนผู้ที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้ารับบริการได้ใน รพ.รัฐทุกแห่งอยู่แล้วไม่เฉพาะ รพ.ตามสิทธิ ขณะที่ผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิประกันสังคม ยังจะต้องไปรับบริการเฉพาะรพ.ตามสิทธิที่ระบุเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เริ่มแล้ว 7 จังหวัด! บัตรประชาชนใบเดียว 30 บาท รักษาทุกโรค ได้ทุกที่
5 ข้อต้องรู้ ก่อนไปใช้สิทธิ 'บัตรประชาชนใบเดียว 30บาทรักษาทุกที่’
4 จังหวัด สถานพยาบาลทุกระดับในสังกัดสธ. และเครือข่าย
วันนี้ (7 พ.ย.2566 ) ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ดอนเมือง กรุงเทพฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่' ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่านโยบายยกระดับ 30 บาท ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่' เป็นหนึ่ง 13 นโยบาย Quick Win ที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน
โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรการแพทย์ในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชน
รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยกระทรวงสาธารณสุขจะนำร่องดำเนินการใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 1 ม.ค.2567 นี้ ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลเอกชน คลินิกและร้านยาที่เข้าร่วม
ทั้งนี้ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ไม่ได้แปลว่าสถานพยาบาลทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันของทั้ง 4 เขตสุขภาพนำร่องจะสามารถเข้าไปรับบริการได้ทุกที่
เบื้องต้น สถานพยาบาลที่รองรับยังเป็นเฉพาะที่สังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสถานพยาบาลทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน หรือ รพ.ประจำอำเภอ โรงพยาบาลทั่วไปหรือ รพ.ประจำจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์
4 เขตสุขภาพ ในหน่วยบริการสังกัดสธ.พร้อมบริการ
นอกจากนี้ 4 เขตสุขภาพ ครอบคลุม 27 จังหวัด สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทุกที่ในหน่วยบริการสังกัดสธ. ประกอบด้วย
- เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
- เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
- เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4 จังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม 7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
“เรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด ดังกล่าวที่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และแล็บที่สนใจเข้าร่วม จะทำให้ สปสช.สนับสนุนงบประมาณและจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น” นพ.ชลน่าน กล่าว
สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการยกนโยบาย 30 บาท เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนไทย โดยเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั้งภาครัฐ และเอกชน ให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการบริการทางสุขภาพ การจัดประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริการรองรับ’บัตรประชาชนใบเดียวรักษาไดัทุกที่’ ครอบคลุมตั้งแต่
1.ระบบบันทึกข้อมูลสำหรับหน่วยบริการประเภทต่างๆ
2.ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน
3.ระบบให้บริการ
4.ระบบเชื่อมต่อกับประชาชนผ่าน LINE OFFICIAL ACCOUNT และแอปพลิเคชัน
เพื่อเตรียมความพร้อมหน่วยบริการและบุคลากรในการจัดเตรียมระบบวางแผนบริหารจัดการ และทดสอบการบริหารจริงแก่ประชาชน โดยกิจกรรมภายในงานมีการอธิปรายในหัวข้อต่างๅ อาทิ องค์กรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือและ สมุดสุขภาพประชาชน ,การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล รวมทั้งยังมีการประชุมกลุ่มย่อยระดมสมองจัดทำแผนปฏิบัติการและนำเสนอแผนแก่ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป
ใครบ้างใช้สิทธิ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่
บุคคลที่จะมีสิทธิเข้ารับบริการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค ทุกที่ ตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง หรือบัตรทอง 30 บาท ปัจจุบันมีอยู่ราว 40 กว่าล้านคน เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถไปรับบริการ รพ.นอกเหนือจาก รพ.ตามสิทธิได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
สำหรับ งบประมาณ ปี 2567 เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่างข้อเสนองบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมเงินเดือนบุคลากร จากเดิม 212,449.82 ล้านบาท เป็น 221,528.95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17,388.92 ล้านบาท
งบประมาณที่เพิ่มขึ้น 17,388.92 บาทนี้ แบ่งเป็น
- บริการเดิมที่ต่อเนื่องจากปี 2566 จำนวน 8,297.23 ล้านบาท
- บริการเดิมที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 6,164.29 ล้านบาท
- บริการใหม่/สิทธิประโยชน์ใหม่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล 108.99 ล้านบาท
- บริการ/สิทธิประโยชน์ใหม่ประจำปี 2567 จำนวน 12.57 ล้านบาท
- การปรับใช้ระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการแบบ DRG เวอร์ชั่น 6 อีก 2,805.84 ล้านบาท