'หัด' โรคฤดูหนาวที่คนเมิน คาดธ.ค.-ม.ค. ระบาด แม้วัคซีนป้องกันได้
ฤดูหนาว 'โรคหัด'ที่ถูกคนเมิน คาดเดือนธ.ค.มค.จะระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ แม้มีวัคซีนป้องกันได้แต่อัตราฉีดต่ำ ไทยถูกจัดเป็นประเทศยังกำจัดโรคนี้ไม่ได้ ถือเป็นโรคประจำถิ่น
Key points :
- กรมควบคุมโรคประกาศ 6 โรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูหนาว ทั้งโรคติดต่อทางระบบหายใจ โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ
- คาดการณ์โรคหัด หนึ่งในโรคฤดูหนาว แม้มีวัคซีนป้องกัน อาจจะมีการระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2566-มกราคม 2567 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้
- สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทย อาการของโรคหัด ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังกำจัดไม่ได้ และยังมีโรคหัดเป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง การเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2566 ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 โดยอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นในหลายพื้นที่
และทิศทางลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก
6โรคภัยสุขภาพฤดูหนาว
กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2566 เน้นดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจาก 4 โรคติดต่อที่พบบ่อย และ 2 ภัยสุขภาพที่สำคัญ เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิต แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
- โรคไข้หวัดใหญ่ แพร่กระจายเชื้อผ่านการหายใจ ไอ จาม ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ น้ำมูกไหล ตาแดง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่จะมีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ และอัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
- โรคปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อที่ถุงลมฝอยภายในเนื้อเยื่อปอด เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่เป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อย ผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะหายใจล้มเหลว และมีโอกาสเสียชีวิต พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่มีประวัติโรคเรื้อรัง
เมื่อติดเชื้อผู้ป่วยมักมีอาการเฉลี่ยประมาณ 5 วัน อาการที่พบได้บ่อย มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ สูญเสียหรือเปลี่ยนการรับรู้รสหรือกลิ่น
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วงจากไวรัส) เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำ/น้ำแข็งที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะไวรัสก่อโรคทางเดินอาหาร การรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก หรือค้างมื้อ ภาชนะที่ใช้ไม่สะอาด โดยพบผู้ป่วยได้ในทุกเพศทุกวัย
ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป อาจทำให้ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด
กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด) ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ใน 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ มักมีไข้ น้ำมูกไหล จะไอแห้ง มีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ ไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้ โดยฉีดเข็มแรกอายุ 9-12 เดือน เข็มสองอายุ 1 ปีครึ่ง
กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพที่ทำให้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว คือการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ทั้งในและนอกที่พักอาศัยโดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอ ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมอบอุ่นร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มเครื่องดื่มที่ให้ความอุ่น สวมใส่เครื่องนุ่งห่มกันหนาวที่เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาว
นอกจากนี้ ให้ระวังการสูดดมแก๊สพิษจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในห้องน้ำมีช่องระบายอากาศไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมาก สามารถทำให้ผู้ที่สูดดมเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน
นักท่องเที่ยวควรสังเกตการระบายอากาศในห้องน้ำ หากใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรเปิด พัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ กรณีอาบน้ำติดต่อกันหลายคน ให้เปิดพัดลมดูดอากาศและเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที กรณีไม่มีพัดลมดูดอากาศควรเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้อากาศถ่ายเท และใช้เวลาในการอาบน้ำโดยเร็ว
คาดธ.ค.-ม.ค.67 หัดระบาด
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อคาดการณ์โรคที่จะระบาดในช่วงเดือน ธันวาคม 2566 เพื่อออกประกาศแจ้งไปยังสำนักงานควบคุมโรคทั่วประเทศ 2 โรค คือ
1.โรคไอกรน ขณะนี้พบข้อมูลการระบาดโรคไอกรนใน 3 จังหวัดชายใต้จำนวนมาก โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 100 ราย เนื่องจากภาคใต้การฉีดวัคซีนไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้มีอัตราการฉีดที่น้อยมาก ขณะที่ภาคอื่นๆ พบผู้ป่วยเพียง 1 – 2 รายเท่านั้น
โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันได้ด้วยวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน หรือ DPT ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานของเด็กเล็ก โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน 3 เข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน
2.หัดและหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือ MMR เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานในเด็กโดยต้องฉีด 2 เข็มตามกำหนดก็จะสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ขณะนี้ยังไม่มีการระบาด แต่กรมควบคุมโรคต้องแจ้งเตือน เพราะยังมีการรายงานผู้ป่วยเข้ามาต่อเนื่อง จึงคาดการณ์ว่าอาจจะมีการระบาดในช่วงเดือน ธ.ค. 2566 - ม.ค.2567 เพราะเป็นฤดูการระบาดของโรคหัดและหัดเยอรมัน
อาการสังเกตและสถานการณ์โรคหัด
อาการสังเกตของหัด จะมีผื่น ปื้น ออกผื่นเป็นไข้ เริ่มขึ้นผื่นในร่มผ้าและกระจายออกนอกร่มผ้า
ส่วนหัดเยอรมัน จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตด้วย ส่วนอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันคือ หมดแรง มีไข้ ปวดเนื้อตัว อ่อนเพลีย มีอาการไอด้วยซึ่งสามารถแพร่เชื้อและทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในผู้ป่วยตามมาได้
วิธีการวินิจฉัยโรคต้องใช้การตรวจด้วยวิธีเจาะเลือดไปตรวจเท่านั้น
สำหรับ สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทย ในปี 2565 การรายงานผู้ป่วยสงสัย และยืนยันหัดเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี 2565 มีรายงานผู้ป่วยไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด หัดเยอรมัน ทั้งสิ้น 250 ราย พบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหัดทางห้องปฏิบัติการ 14 ราย ไม่พบผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา คิดเป็นอัตราป่วย 0.02 ต่อประชากรแสนคน
ผู้ป่วยยืนยันส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็กเล็กลดลงเหลือ 86.71 % ในปี 2564 และ 86.40 % ในปี 2565 อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคหัดขึ้นได้
สถานการณ์โรคหัด ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–31 มีนาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วย ไข้ออกผื่นหรือสงสัยหัด หัดเยอรมัน ทั้งสิ้น 117 ราย พบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันหัดทางห้องปฏิบัติการ 7 ราย และพบผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา 1 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.01 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
พบอัตราป่วยสูงสุด 4 อันดับ ได้แก่ กลุ่มอายุน้อยกว่า 1 ปี 0.42 ต่อประชากรแสนคนรองลงมา กลุ่มอายุ 1–4 ปี 0.13ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุ 20–29 ปี 0.01ต่อประชากรแสนคน และ กลุ่มอายุมากกว่า 40 ปี 0.01ต่อประชากรแสนคน
ผู้ป่วยทั้งหมดสัญชาติไทย พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน ได้แก่
จังหวัดยโสธร 0.56ต่อประชากรแสนคน
จังหวัดระยอง 0.13ต่อประชากรแสนคน
จังหวัดอุดรธานี 0.13ต่อประชากรแสนคน
และจังหวัดสกลนคร 0.09ต่อประชากรแสนคนตาม
5ประเทศกำจัดโรคหัดได้แล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการประชุมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลการดำเนินการอยู่ในสถานะกำจัดโรคหัดได้แล้ว 5 ประเทศ คือ ภูฎาน มัลดีฟ ศรีลังกา ติมอร์เลสเต และสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี ที่เหลืออีก 6 ประเทศรวมประเทศไทย ยังมีโรคหัดเป็นโรคประจำถิ่น
ส่วนโรคหัดเยอรมัน ผ่านการตรวจสอบว่ากำจัดได้แล้ว4 ประเทศ คือ ภูฎาน มัลดีฟ ศรีลังกา และติมอร์เลสเต อีก 6 ประเทศรวมประเทศไทย ยังมีหัดเยอรมันเป็นโรคประจำถิ่นเช่นกัน
อ้างอิง: กรมอุตุนิยมวิทยา ,กรมควบคุมโรค