สธ.เปิด 2 รพ.ในกทม. รองรับคนกรุงโซนเหนือ-ตะวันออก
สธ.เปิด 2 รพ.ขยายเพิ่มในกทม. 'ราชวิถี 2- รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า' รองรับคนกรุงโซนเหนือ-ตะวันออก ขณะที่รพ.ราชวิถีเปิดรพ.เสมือน ประชาชนรับบริการออนไลน์ไม่ต้องมารพ.
Keypoints:
- รพ.ราชวิถี เปิดบริการ Virtual Hospital หรือรพ.เสมือน ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่ สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง บริการครบวงจรเหมือนเข้ารับบริการใน รพ.จริง
- จัดตั้ง 2 รพ.ในพื้นที่เมืองกรุง ตามนโยบายกทม.50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล แห่งแรกรพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) จ.ปทุมธานี รองรับตอนเหนือ และรพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า พื้นที่ตะวันออก
- เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ส่งเสริมการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เน้นตรวจคัดกรองคู่รักอย่างครอบคลุม และดูแลเฉพาะราย ส่วนเขตสุขภาพที่ 10 จัดให้ฟรี ทำเด็กหลอดแก้ว 10 คนต่อปี
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 ม.ค. ที่ รพ.ราชวิถี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังติดตามนโยบาย สธ.ว่า ภายใต้นโยบาย "ยกระดับ 30 บาท" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการและคุณภาพชีวิตประชาชน ในส่วนของกรมการแพทย์ มีผลสำเร็จใน 4 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1.ดิจิทัลสุขภาพ ให้บริการ Virtual Hospital ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่ สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ด้วยบริการครบวงจรเหมือนเข้ารับบริการใน รพ.จริง
พูดคุยตอบโต้กับแพทย์ได้แบบ Real-time สามารถเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน ชำระเงินออนไลน์ เบิกจ่ายตามสิทธิ รับยาทางไปรษณีย์ ให้บริการทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่เข้าเงื่อนไข เช่น ผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถพูดคุยกับหมอผ่านระบบออนไลน์ได้
"ผู้เข้ารับบริการแล้วมากกว่า 1,700 ราย และยังมีฐานข้อมูล Digital Medical Services ที่เชื่อมโยงข้อมูล รพ.ในส่วนภูมิภาคทุกระดับเข้ากับ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ ให้การปรึกษาดูแลผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนผ่านระบบ Teleconsult และส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อมายัง รพ.สังกัดกรมการแพทย์ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว" นพ.ชลน่านกล่าว
ตั้ง 2 รพ.เขตกทม.รองรับโซนเหนือ-ตะวันออก
2.นโยบาย รพ.กทม.50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล ได้จัดพื้นที่ในเขตดอนเมืองเป็นพื้นที่เป้าหมาย โดยรพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) จ.ปทุมธานี สังกัดกรมการแพทย์ ได้เข้ามามีบทบาทแบ่งเบาภาระจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่โดยรอบ จ.ปทุมธานี และพื้นที่กรุงเทพฯตอนเหนือ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯตอนเหนือ ทั้งหมด 6 เขต (ดอนเมือง ,สายไหม ,หลักสี่ ,บางเขน ,ลาดพร้าว ,วังทองหลาง) มีประชากร 877,928 คน มีเตียงรองรับผู้ป่วย 1,926 เตียง อัตรา 2.19/1,000 ประชากร
เฉพาะพื้นที่เขตดอนเมืองเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นแต่อัตราเตียงผู้ป่วย 0.78/1,000 ประชากร จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อประชาชนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) ในปัจจุบันเปิดให้บริการหอผู้ป่วยใน 84 เตียง แผนกฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ทำให้มีอัตราเตียงรองรับรับผู้ป่วยพื้นที่เขตดอนเมือง เพิ่มขึ้นเป็น 1.62/1,000 ประชากร
และรพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเกล้า แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบประชากรสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 9,763 ราย ให้บริการตรวจโรคทั่วไป ฝากครรภ์ Well baby clinic และศูนย์ฟอกไตเทียม เปิดให้บริการประชาชนเป็นโรงพยาบาลประจำเขตมีนบุรี โดยเริ่มให้บริการคลินิกแพทย์เฉพาะทางในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่ จักษุ อายุรกรรมทั่วไป อายุรกรรมโรคไต ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก กุมาร สูตินรีเวช ทันตกรรม กายภาพบำบัดและเปิดให้บริการห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
พร้อมหอผู้ป่วยในจำนวน 25 เตียงในเดือนมกราคม 2567 ตั้งเป้าเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิจำนวน 60 เตียงรับส่งต่อในเขตมีนบุรีภายในปีงบประมาณ 2567
“นโยบาย 50 เขต 50 รพ.กทม. ต้องการเติมเต็มทุกจุดที่มีปัญหา พื้นที่ที่นำร่องเพื่อดูความพร้อมความเป็นไปได้ เพราะการบริการสาธารณสุขโดยรวมใน กทม. เป็นการจัดบริการสาธารณะของ กทม.ที่เป็นท้องถิ่นพิเศษ สธ.จะไปเติมเต็มในส่วนที่มีความจำเป็นหรือส่วนที่ขาด ไม่ได้แย่งงาน กทม.ทำ ส่วนที่ถามว่าจะเปิดเป็น 4 มุมเมืองเลยหรือไม่นั้น กำลังพิจารณาอยู่”นพ.ชลน่านกล่าว
เด็กหลอดแก้วฟรีปีละ 10 คน ในเขต 10
3.เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ส่งเสริมการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เน้นตรวจคัดกรองคู่รักอย่างครอบคลุม และดูแลเฉพาะราย ให้บริการแล้ว 47 คู่ พบความผิดปกติและส่งเข้ารักษาภาวะมีบุตรยาก 12 คู่ ซึ่งมีตั้งแต่การฉีดน้ำอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก การทำเด็กหลอดแก้ว และการทำอิ๊กซี่
นอกจากนี้ เขตสุขภาพที่ 10 ก็ตั้งเป้าทำเด็กหลอดแก้วปีละ 10 ราย ก็จะไปตั้งงบประมาณที่เรามีอยู่ไปสนับสนุนส่งเสริม เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ตกคนละ 1 แสนบาท
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 มีการเสนอร่างวาระแห่งชาติส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำส่ง ครม. เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อยหรือไม่อยากมีลูก เกิดจากภาวะมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เรื่องความมั่นคง และความปลอดภัยเป็นหลัก หลายคนตัดสินใจไม่มีลูก
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสร้างทัศนคติที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ ว่าการมีลูกเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ รพ.ราชวิถีเรามีรูปปั้นแม่อุ้มลูก เพราะเกิดจากที่ครั้งหนึ่งเรามีสถานการณ์การเกิดน้อยมาก จึงรณรงค์ยกย่องให้แม่ผู้ให้กำเนิดเป็นเสมือนวีรสตรีของชาติ
"ต้องให้คนที่ให้การเกิดเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ ต้องปรับวิธีคิด โดยบนพื้นฐานเตรียมความพร้อมให้มีความมั่นใจ ว่าจะเข้าสู่เรื่องของการเกิดอย่างคุณภาพได้อย่างไร ขณะท้องอยู่ ดูแลลูกในท้องเป็นอย่างไร ขณะเกิดเกิด หลังเกิด 2 ปีแรก และ 6 ปีเป็นอย่างไร ต้องทำให้เขามีความมั่นใจ อย่างเดิมลาคลอดได้ 3 เดือน 90 วัน รับเงินเดือน บางแห่งอาจลาได้ 180 วันแต่ไม่ได้รับเงินเดือน เรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นข้อเสนอเข้าไป เป็นได้หรือไม่ลาคลอด 6 เดือน หรือจะส่งเสริมให้มีคลินิกเด็กตั้งแต่ 2-3 เดือน หรือ 6 เดือนขึ้นไป" นพ.ชลน่านกล่าว
และ 4. การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ด้วย Care D+ Team ลดช่องว่างการสื่อสารระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ โดยให้บริการมากกว่า 4,000 ราย/วัน ส่วนใหญ่ 80% เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการรับบริการ ซึ่งพบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับดีมาก และได้รับคำชมเชยเพิ่มขึ้น 47%