อนุมัติ 'พยาบาลชำนาญการพิเศษ' กว่า 9,000 ตำแหน่ง บรรจุอีก 3,000 นำออกจากก.พ.
อ.ก.พ.สธ. อนุมัติกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ กว่า 9,000 ตำแหน่ง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกได้ ภายใน ก.พ. 67 เดินหน้าใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลให้ครบ 3,318 ตำแหน่งในมี.ค.นี้ ระยะยาวนำสธ.ออกจากก.พ.ภายในปี 68 แก้ปัญหากำลังคนระบบสาธารณสุข
Keypoints:
- "กำลังคน"เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังของ"ระบบสาธารณสุข" ทั้งไม่เพียงพอ มีการลาออก ไร้ตำแหน่งบรรจุข้าราชการ และความก้าวหน้าของตำแหน่ง
- พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีจำนวนมากสุดในระบบสาธารณสุขและตันตำแหน่งอยู่ที่ชำนาญการล่าสุด อ.กพ.สธ.มีมติเห็นชอบ 9,000 ตำแหน่ง"พยาบาลวิชาชีพ"ชำนาญการพิเศษ
- นำสธ.ออกจากก.พ.เป็นเป้าหมายที่กำลังดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหากำลังคน และเป็นนโยบายที่"นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" รมว.สาธารณสุข ประกาศว่าจะขับเคลื่อนให้สำเร็จ ภายในปี 2568
ย้อนไปการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เรื่องบุคลากร เมื่อ20 มิ.ย. 2566 ครั้งนั้นมีข้อสรุปร่วม 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การหาเพิ่มจำนวนตำแหน่งของข้าราชการให้ได้อยู่ในกรอบขั้นสูง ซึ่งแต่ละวิชาชีพจะไม่กันโดยมีหลักคิดและวางไว้ในทุกระดับและมีการกระจาย อาทิ แพทย์ อยู่ที่ 35,000 คน พยาบาล 140,000 คน และวิชาชีพอื่นๆ
2.ความก้าวหน้าที่เป็นขวัญกำลังใจ ที่ประชุมบรรลุวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่ปัจจุบันตันอยู่ที่ชำนาญการหรือซี 7 รอเรื่องของการปรับเป็นชำนาญการพิเศษหรือซี 8 นอกจากนี้ ให้มองถึงเชี่ยวชาญให้ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคจะต้องให้การพิจารณาเป็นพิเศษ
3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ
4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ใช้ทุนปี 1 ให้สธ.อย่างเพียงพอต่อภาระงานที่ประมาณปีละ 85 %
5.ระยะยาว จะมีการขยายจำนวนของนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD ให้ได้ปีละ 2,000 คน ตรงกับตัวเลขความต้องการของสธ.เพราะมีอัตราการคงอยู่ในระบบที่ 80-90 %
อนุมัติ 9,000 ตำหน่งพว.ชำนาญการพิเศษ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ระดับชำนาญการพิเศษ 10,124 อัตรา ว่า ล่าสุด อ.ก.พ. สธ. ได้มีมติอนุมัติการปรับปรุงกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ เป็นระดับชำนาญการพิเศษแล้ว 9,596 ตำแหน่ง
ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรร ประกอบด้วย
- สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 8,761 ตำแหน่ง
- กรมการแพทย์ 656 ตำแหน่ง
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 1 ตำแหน่ง
- กรมควบคุมโรค 36 ตำแหน่ง
- กรมสุขภาพจิต 45 ตำแหน่ง
- และกรมอนามัย 97 ตำแหน่ง
- ส่วนที่เหลืออีก 528 ตำแหน่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 372 ตำแหน่ง
และกำหนดไม่ได้อีก 156 ตำแหน่ง เนื่องจากมีผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ครบ,มีพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษแล้ว และตำแหน่งที่ขอกำหนดไม่ตรงกับกลุ่มงาน ซึ่งจะมีการตรวจสอบข้อมูลตามหลักเกณฑ์ฯ และแจ้งจังหวัดให้ดำเนินการกำหนดตำแหน่งต่อไป
ไทม์ไลน์ประกาศผลคัดเลือก ก.พ.2567
สำหรับ Timeline ของกระบวนการประเมินคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก ตำแหน่งละ 1 คน พร้อมแจ้งผู้ผ่านการประเมินบุคคลให้ส่งผลงานภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อ และรายงานผลการดำเนินงานให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบต่อไป
“กระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.พ. โดยเฉพาะการกระจายตำแหน่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากที่สุด” นพ.สุรโชค กล่าว
บรรจุพยาบาลอีกกว่า 3,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ในมีเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขไตรมาส 2 วางเป้าหมายช่วง ม.ค. - มี.ค. (Mid-Year Success)
ประเด็นของการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เร่งรัดตรวจสอบและประเมินผลงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษให้ครบเป้าหมาย 10,124 ตำแหน่ง รวมทั้งการใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลวิชาชีพให้ครบ 3,318 ตำแหน่ง
กรอบอัตราตำแหน่งข้าราชการที่ต้องการ
ในส่วนของความต้องการกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เคยจัดทำตัวอย่างอัตรากำลังตำแหน่งข้าราชการตามกรอบขั้นสูง ภายในปี 2569
1.แพทย์ 35,578 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 1,000 ตำแหน่ง
2.ทันตแพทย์ 9,475 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 300 ตำแหน่ง
3.เภสัชกร 14,809 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 130 ตำแหน่ง
4.พยาบาล 175,923 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 4,200 ตำแหน่ง
5.นักกายภาพบำบัด/เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นู 7,879 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 60 ตำแหน่ง
6.นักเทคนิคการแพทย์/นักวิทยาศาสตร์การแพทย์/เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ 14,026 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 150 ตำแหน่ง
7.อื่นๆอีก 63 สายวิชาชีพ
เป้าหมายอยู่ที่นำสธ.ออกจากก.พ.
การแก้ปัญหาระยะยาว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติในนโยบายสธ.ว่าจะผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) มีคณะกรรมการบริหารบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายบริหารงานบุคคลรองรับ คิดว่าจะปลดเรื่องข้อผูกมัดที่มีลักษณะเสื้อโหลให้กับราชการ ตั้งเป้าจะทำให้ได้ภายในปี 2568
"ที่ผ่านมาเมื่อมีนโยบายลดอัตรากำลังข้าราชการ ก็จะกระทบสธ.ด้วย ลดจำนวนคน แต่สธ.ยัง ให้บริการอย่างมาก ขณะที่สธ.มีศักยภาพที่สามารถจ้างงานเองได้ ถ้าตรงนี้สามารถปลดล็อคได้วางเป้าไว้ที่ปี 2568 ก็จะสามารถจัดตั้งมารองรับได้"นพ.ชลน่านกล่าว