ผมหงอก ย้อมปิดผมขาว ย้อมผมบ่อยๆ ระวังตับ-ไต กรมแพทย์เตือนอันตราย

ผมหงอก ย้อมปิดผมขาว ย้อมผมบ่อยๆ ระวังตับ-ไต กรมแพทย์เตือนอันตราย

รู้ไว้ปลอยภัยกว่า ผมหงอก ย้อมปิดผมขาว ย้อมผมบ่อยๆ ระวังตับ-ไต กรมการแพทย์เตือนอันตราย พร้อมแนะนำอย่าตกเป็นเหยื่อโฆษณา

กรณี ผมหงอก ย้อมปิดผมขาว ย้อมผมบ่อย ๆ ทำไมอันตราย ล่าสุด สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ย้อมปิดผมขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงมากนัก นั่นก็คือยาย้อมผมเคมี หรือ Permanent hair dye

ผมหงอกเกิดจาก 

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สีผมธรรมชาติโดยเฉพาะคนไทย และ คนเอเชียทั่วไปจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเกือบดำ สีดำในเส้นผมธรรมชาติมาจากเม็ดสีเมลานินที่สร้างจากเซลล์เมลาโนไซต์ในรากผม ซึ่งผมจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวเนื่องจากการทำงานของเมลาโนไซต์ที่ลดลง และมีจำนวนน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและกรรมพันธุ์

 

ผลกระทบย้อมผมหงอก

สำหรับผู้ที่ต้องการปิดผมขาวอาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิดผมขาว ซึ่งการย้อมสีผมบ่อยๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณศีรษะ และก่อให้เกิดอาการแพ้

โดยอาการแพ้นั้นอาจเป็นผื่นเล็กน้อยบริเวณที่สัมผัส หรืออาจมีการแพ้ในระดับรุนแรง

  • ผิวหนังมีอาการผื่นบวมคัน
  • มีน้ำเหลืองซึม
  • หน้าบวม
  • ตาบวม
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณศีรษะและคอบวมโต
  • อาจมีไข้ร่วมด้วยได้ในบางราย

ยาย้อมผมหงอก

แพทย์หญิงนันท์นภัส โปวอนุสรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า Permanent hair dye มีส่วนประกอบหลักๆ ดังนี้ 

1. Developer คือสารที่ใช้ล้างสีผมเดิม ส่วนประกอบหลักคือ hydrogen peroxide ทำหน้าที่กัดสีผมเดิมออก เพื่อให้ได้สีผมใหม่ที่มีความสดและสม่ำเสมอ hydrogen peroxide นี้นอกจากทำให้เส้นผมแห้งเสียและยังระคายเคืองหนังศีรษะด้วยความที่เป็นด่างสูง

 2. Alkaline agent คือสารที่ทำลายโปรตีนเส้นผม ทำให้เกล็ดผมเปิดออกเพื่อให้สีย้อมเข้าไปถึงแกนของเส้นผมได้ง่าย ส่วนประกอบหลักคือแอมโมเนีย เมื่อเส้นผมต้องสัมผัสกับแอมโมเนียบ่อยๆ จะทำให้ผมขาดร่วงง่าย 

3. Color คือสารย้อมหลักๆ ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ PPD (para-phenylenediamine) และ PTDS (para-toluenediamine sulfate) ซึ่งเป็นสารย้อมทางเลือกสำหรับใครที่แพ้ PPD แต่สามารถแพ้ข้ามชนิดกันได้ สีย้อมที่ยิ่งเข้มดำยิ่งมีสารย้อมที่เข้มข้นกว่าสีอ่อน

 4. ส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งแล้วแต่แบรนด์ต่างๆ จะเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อจุดประสงค์การขาย เช่น สารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ น้ำหอม และสารกันเสีย นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ป่วยที่มีการสัมผัสกับสารย้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมจากการสัมผัสสารย้อมเช่นกัน ดังนั้นหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสีผม ควรยืดระยะเวลาระหว่างการทำสีแต่ละครั้งให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการสัมผัสกับสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด

 

อ้างอิง - กรมการแพทย์