บิ๊กล็อต สธ.ผลิตแพทย์-พยาบาลเอง เกือบ 70,000 คน

บิ๊กล็อต สธ.ผลิตแพทย์-พยาบาลเอง เกือบ 70,000 คน

ไทยวิกฤติขาดพยาบาลราว 50,000  คน  สธ.เห็นชอบผลิตเพิ่ม 5,000 คน หลักสูตรเร่งรัดรับจบป.ตรี มาเรียน 2.6 ปี  ขณะที่ครม.เห็นชอบงบกว่า 37,000 ล้านบาท ผลิต “ทีมหมอครอบครัว” 9 สาขา ระยะ 10 ปี ราว 62,000 คน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสธ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการเรื่องการเพิ่มการผลิตบุคลากร สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาลตามที่สถาบันพระบรมราชชนกและสภาการพยาบาลเสนอ โดยเป็นการผลิตพยาบาลเพิ่มแบบเร่งรัดระยะเวลา 2 ปี ปีละ 2,500คน รวม 5,000 คน

เป็นการรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาแต่ถ้าจะดีจบสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาเรียนเพิ่มเติม 2.6 ปี จะเริ่มดำเนินการในปี 2568  มอบหมายให้สถาบันฯไปพิจารณาต่อเรื่องของหลักสูตร แหล่งผลิต และงบประมาณก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป

ความจำเป็นที่ต้องผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความขาดแคลนอยู่อีกราว 50,000 คน ซึ่งตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ270 คน แต่ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 คน

อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการกระจายด้วยมี 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ  400 คน  15 จังหวัดสัดส่วน 1 ต่อมากกว่า 500 คน และ 5 จังหวัดที่สัดส่วนสูง คือ หนองบัวลำภู 1 ต่อ 712 คน บึงกาฬ 1 ต่อ 608 คน เพชรบูรณ์ 1 ต่อ 572 คน กำแพงเพชร 1 ต่อ 571 คน และศรีสะเกษ 1 ต่อ 569 คน 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณรว 37,200 ล้านบาทตามที่สธ.เสนอ  ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวม 16 ปี เป็นโครงการผลิตแพทย์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) หรือทีมหมอครอบครัว ใน  9 สาขา  ประกอบด้วย

  • แพทย์เวชศาสตร์
  • พยาบาล
  • นักวิชาการสาธารณสุข
  • ผู้ช่วยพยาบาล
  • ผู้ช่วยสาธารณสุข
  • ทันตแพทย์
  • เภสัชกร
  • นักฉุกเฉินการแพทย์
  • แพทย์แผนไทย
    ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 เมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยให้สถาบันพระบรมราชชนกผลิตเช่นกัน

การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนมาเข้าศึกษาเป็นทีมหมอครอบครัว อาทิ

1.ปรับแก้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดรับกับงาน

2.เงินตอบแทนวิชาชีพหรือพตส.จาก 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน เสนอขอเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

3.อายุงานของผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานในระกับปฐมภูมิ กำลังหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อให้นับอายุงานตั้งแต่ยังเรียน แต่ค่าตอบแทนได้รับเมื่อเรียนจบและปฏิบัติงานแล้ว 

4.ความก้าวหน้า สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิได้

และ5.การจัดสรรงบประมาณให้สอดรับกับเนื้องาน เช่น งบฯเหมาจ่ายรายหัว ให้จัดสรรเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคของปฐมภูมิแยกออกมา 

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องการช่วยผู้ป่วยจิตเวชที่อาการรุนแรงไม่ยอมทานยา โดยให้จัดหายาฉีด LONG ACTING ANTIPSYCHOTIC INJECTABLE มาใช้ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เป็นเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเข้าข่ายสร้างความรุนแรงต่อสังคม 4.2 หมื่นคน แยกเป็นระดับ V1 ที่ทำร้ายตัวเอง และV4ที่ทำร้ายสังคม  เบื้องต้นให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป มีสำรองยาไว้ใช้ได้ราว 3 เดือน 
 “ยาตัวนี้ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเสนอยาตัวนี้เข้าสู่ขั้นตอนเพื่อบรรจุในบัญชีบาหลักแห่งชาติ ส่วนระหว่างที่มีการพิจารณาให้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อใช้เงื่อนไขเชิงนโยบาย พิจารณาใช้งบประมาณอุดหนุนมาจัดหาให้ผู้ป่วยใช้ก่อน”นพ.ชลน่านกล่าว