ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 88 % ไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการของWHO

ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 88 % ไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการของWHO

ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 88 % ไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการของWHO  ขณะที่เด็กไทยอ้วนไม่ลด กรมอนามัยเดินหน้าร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก หลังผ่านประชาพิจารณ์ มุ่งคุมโฆษณา-ส่งเสริมการตลาดอาหารแปรรูปที่มีไขมัน โซเดียม น้ำตาลสูง

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงการยกร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ....ว่า จากปัญหาเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคNCDs และโรคอ้วนที่มีมากขึ้นโดยพาะในเด็ก โดยสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยอยู่ที่ระดับ 12-13%  ยิ่งเป็นในเขตเมืองก็จะเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น

เพราะสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดขึ้น พ่อแม่ไม่มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกเอง ก็ต้องพึ่งพาอาหารแปรรูป ทั้งที่ควรจะต้องลดลง เนื่องจากเคยมีการตั้งเป้าหมายก่อนปี 2560 ว่าเด็กอ้วนในวัยเรียนจะไม่เกิน  10 %  

มุ่งควบคุมอาหารไขมัน โซเดียม น้ำตาลสูง  

ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ เช่น  ให้องค์ความรู้ ฉลากอาหาร และภาษีน้ำตาล  และอีกมาตรการที่กำลังขับเคลื่อนเป็นเรื่องของการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยได้มีการยกร่างพ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ.... มุ่งเน้นในอาหารที่มีไขมัน โซเดียม น้ำตาลสูง

พญ.สายพิณ กล่าวด้วยว่า   การที่ต้องยกร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นเพราะมีการขับเคลื่อนหลายๆมาตรการแล้ว  แต่สถานการณ์โรคอ้วนในเด็กก็ยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจะต้องมีหลายๆมาตรการทำร่วมกัน โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางด้านกฎหมาย ทั้งที่เด็กไทยมีการบริโภคอาหารแปรรูปมาก และการโฆษณาหรือการส่งเสริมการตลาด ทำโปรโมชัน 1 แถม 1 ต่างๆ ทำให้โอกาสที่เด็กจะได้รับอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพก็มากขึ้น

คุมโฆษณา-ส่งเสริมการตลาด

 “สิ่งที่พ.ร.บ.นี้กำลังจะทำก็คือจะทำให้การโฆษณาและส่งเสริมการตลาดของอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลดลง ไม่ให้เด็กถูกส่งเสริมหรือกระตุ้นจากการตลาด และคาดหวังว่าผู้ประกอบการจะมีการปรับสูตร เพื่อทำให้ความหวาน ความมัน ความเค็ม ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการ( who nutrient profile model)และเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพของประเทศไทย  เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้สามารถโฆษณา ทำการตลาดได้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์จากการออกกฎหมายนี้”พญ.สายพิณกล่าว 

ย้ำไม่ลิดรอนสิทธิ

ร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์แล้วเมื่อราวกลางปี  2566 ได้มีการนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาพิจารณา โดยเฉพาะในข้อกังวลเรื่องการลิดรอนสิทธิจากการที่ไม่ให้ลด แลก แจก แถมเพราะผู้ใหญ่ก็กิน ชี้แจงว่า ไม่ได้ห้ามใครกิน  ไม่ได้ลิดรอนสิทธิแน่นอน

แต่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผู้ผลิตหากต้องการให้โฆษณาและส่งเสริมการตลาดได้ ก็จะต้องปรับสูตร ทุกคนจะได้ประโยชน์ รวมถึง  เรื่องการกำหนดอายุต่ำกว่า 18 ปีจะมากเกินไปควรจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็นเกณฑ์ที่อิงตามระดับโลก และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์โภชนาการยังสามารถโฆษณาและส่งเสริมการตลาดได้ 

“ได้หารือกับภาคอุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อพิจารณาร่วมกันว่ายังมีข้อไม่เข้าใจตรงจุดไหนและจะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศอย่างไร  หลังจากนี้เมื่อมีการปรับปรุงและเห็นชอบในหลักการร่วมกัน ก็จะนำเสนอผ่านทางกรมอนามัย  ไปสู่การพิจารณาของปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรวม.สาธารณสุขพิจารณานำเสนอเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป”พญ.สายพิณกล่าว 

88 % ไม่ผ่านเกณฑ์โภชนาการ WHO

ทั้งนี้ การประเมินผลิตภัณฑ์อาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการ(who nutrient profile model) โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าประเมินได้  17,030 รายการ พบว่า  ผ่านเกณฑ์ 11.9 %  ไม่ผ่านเกณฑ์ 88.1 %  และเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์มีปริมาณน้ำตาล ไขมันและโซเดียมที่เหมาะสม โดยผลิตภัณฑ์ที่เข้าประเมิน ผ่านเกณฑ์ 12 % ไม่ผ่านเกณฑ์ 88 %