2,500 ล้านบาท/ปี ค่ารักษาพยาบาลไทยเรียกเก็บไม่ได้ ตามแนวชายแดน
ไทยแบกค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม่ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่ชายแดน เฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ใช้เงินรองรับกลุ่มบุคคลไร้สถานะและสิทธิราว 1,500 ล้านบาท เกินกว่างบฯจัดสรรรายปี
KEY
POINTS
- สิทธิทางสุขภาพ ถือเป็นสิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสภาพทางเศรษฐกิจหรือสังคม
- ไทยแบกค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม้ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่แนวชายแดน เฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท ขณะที่จัดสรรงบประมาณรองรับกลุ่มบุคคลไร้สถานะและสิทธิราว 1,500 ล้านบาท
- สธ.จับมือองค์การอนามัยโลก(WHO) พัฒนาแพลตฟอร์ม HINT รองรับการดูแลสุขภาพบุคคลไร้สถานะและสิทธิ ช่วยผู้ใช้บริการรู้ข้อมูลสุขภาพตัวเอง รพ.เบิกเงินคืนได้ใน 1 สัปดาห์ รัฐได้Big Data
วันที่ 7 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันอนามัยโลก” (World Health Day) ปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “สุขภาพของเรา สิทธิของเรา อนาคตดิจิทัลของเรา” (Our Health, Our Right, Our Digital Future) ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคทางสุขภาพ ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสภาพทางเศรษฐกิจหรือสังคม
สิทธิทางสุขภาพเท่ากับสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2567 ที่โรงแรมริชมอนด์ ภายในงานวันอนามัยโลก ประจำปี 2567 และครบรอบ 76 ปี องค์การอนามัยโลก(WHO) ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิด้านสุขภาพเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดย WHO มุ่งมั่นในการส่งเสริมสุขภาพและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสิทธิทางสุขภาพ หมายถึง บริการด้านสุขภาพที่ มีคุณภาพ, พร้อมใช้งาน, เข้าถึงได้, ยอมรับได้และสามารถให้บริการได้ ตลอดเวลาและทุกที่ สำหรับทุกคน
รวมถึง การมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม การศึกษา การได้รับข้อมูลข่าวสาร น้ำดื่มและอากาศที่สะอาด โภชนาการที่ดี ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ตลอดจนการทำงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะเข้าใกล้การบรรลุวิสัยทัศน์ของการดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียม
ดิจิทัลดูแลกลุ่มบุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธิ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขทำทันที นอกจากจะดำเนินการในผู้มีสิทธิด้านสุขภาพแล้ว ยังดำเนินการในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและมีสุขภาวะ
ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง สอดรับกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (Country Cooperation Strategy : CCS) พ.ศ. 2565 – 2569 ในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม
แบกค่ารักษาเก็บไม่ได้ 2,500 ลบ./ปี
นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทยและงบประมาณในการดูแลสุขภาพในช่วง 4 ปี ดังนี้
- ปี 2564 จำนวน 554,137 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,397 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,575 ล้านบาท
- ปี 2565 จำนวน 604,394 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,148 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,544 ล้านบาท
- ปี 2566 จำนวน 696,522 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,212 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,598 ล้านบาท
- ปี 2567 ( ณ 19 เม.ย.)จำนวน 731,180 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,513 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริงไปแล้ว ราว 656 ล้านบาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เรียกเก็บไม้ได้จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตามในพื้นที่ชายแดนปีงบประมาณ 2562-2566 เฉลี่ย 2,564 ล้านบาทต่อปี แยกเป็น
- ปี 2562 จำนวน ราว1,894 ล้านบาท
- ปี 2563 จำนวนราว 1,763 ล้านบาท
- ปี 2564 จำนวนราว 3,514 ล้านบาท
- ปี 2565 จำนวนราว 3,597 ล้านบาท
- ปี 2566 จำนวนราว 2,054 ล้านบาท
“ค่าใช่จ่ายในการดูแลกลุ่มที่ไม่มีสิทธิต่างๆ ประเทศไทยรองรับที่เรียกเก็บไม่ได้ราว 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแนวทางในการพัฒนาต่อไป คื การสร้างความร่วมมือเครือข่ายรัฐ-เอกชน ,การใช้ระบบดิจิทัลในการพัฒนาสุขภาพ โดยเชื่อมต่อข้อมูล ,การจัดบริการที่เน้นการเข้าถึงและเหมาะสมกับกลุ่มดปราะบาง และการพัฒนากองทุนสนับสนุนการดำเนินงาน ปีละ 2,500 ล้านบาทให้เป็นกองทุนระหว่างประเทศร่วมกันเป็นเป้าหมายที่จะดำเนินการ”นพ.ดิเรกกล่าว
HINT แพลตฟอร์ม ดูแลบุคคลไร้สถานะและสิทธิ
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ WHO และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลก หนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เช่น โครงการพัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT)
นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีโมดูล 6 เรื่อง ได้แก่ 1.เชื่อมข้อมูลทั้งประเทศแบบเรียลไทม์ 2.จัดการทะเบียนสิทธิ สามารถเข้าถึงและยืนยันตัวบุคคลได้ทันที่ที่ใช้บริการ 3.รพ. หน่วยบริการสามารถประเมินและรับรู้มูลค่าของการจ่ายค่าชดเชยได้ทันที 4.สามรถเคลมและเทร็คกิ้งได้ตลอดเวลาจนกระทั่งหน่วยบริการได้รับเงินค่ารักษาคืน 5.เก็บข้อมูล Bigdata และ6. แสดงเป็น Business Intelligence
ปัจจุบันมีเครือข่ายหน่วยบริการทั่วประเทศ 1,048 แห่งครบถ้วน สามารถเข้าถึงและเชื่อมข้อมูลบริการได้แบบเรียลไทม์ โดยสามารถเข้าใช้งานด้วยระบบยืนยันตัวตันที่ทันสมัยและปลอดภัย เข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ประวัติแพ้ยาส่วนบุคคล และโรคประจำตัว ยาที่เคยได้รับ และอื่นๆ ไม่ว่าจะเข้ารับบริการที่รพ.ใดก็ตาม อำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ารับบริการและการรักษา นอกจากนี้ ทำให้ได้ Big Data เช่น โรคที่พบมาก มูลค่าการรักษารายโรค หรืองบประมาณที่จัดสรรลงไปให้รพ.และจ่ายเงินตามรายเคส และจำนวนผู้มีสิทธิทั่วประเทศ เป็นต้น
“แนวคิดพัฒนาในระยะต่อไป จะมีการขยายผลการใช้ไปยังกองทุนประกันสุขาพภาครัฐอื่นๆ โดยจะขยายไประบบกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพแบบออนไลน์ ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ตลอดเวลา จองคิวตรวจสุขภาพในโรงพยาบาล และใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์”นพ.สวัสดิ์ชัยกล่าว
HINT ช่วยให้ได้เงินคืนใน 1 สัปดาห์
นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จ.เชียงรายมีประชากรคนไทยประมาณ 1.29 ล้านคน ส่วนใหญ่มีสิทธิรักษาพยาบาล บัตรทอง 30 บาท คิดเป็น 70 % บุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธิราว 130,000 คน หรือ 10 % ส่วนใหญ่อยู่ที่อ.เมือง แม่สาย แม่ฟ้าหลวง และแม่จัน ในการจัดบริกาดำเนินการให้ทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติ มีการรับบริการอย่างเท่าเที่ยมทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค
ในส่วนของคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ จ.เชียงราย ได้ลงแพลตฟอร์ม HINT เมื่อ พ.ย.2566 ทำให้เกิด WIN WIN ทั้ง 2 ฝ่าย โดยในส่วนผู้รับบริการเกิดความสะดวกกับผู้รับบริการในการยืนยันบุคคล เนื่องจากมีการถ่ายภาพ รูปภาพและสแกนลายนิ้วมือ ได้รับบริการอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพคุณภาพ
และส่วนของรพ.เดิมกว่าจะได้คืนเงินค่ารักษาใช้เวลาอย่างต่ำ 6 เดือน เมื่อใช้HINT ได้รับเงินคืนก็ใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ที่จะมีเงินต่างๆเข้าไปหมุนในระบบ เพื่อจัดบริการสุขภาพให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น