โรคลมร้อน ฮีทสโตรก เสียชีวิตเพิ่ม 2 เท่าเทียบปีก่อน
กรมควบคุมโรคเผยค่ายลี้ภัยอ.แม่สอด พบผู้ป่วยอุจจาระร่วง-มาลาเรีย ส่วนพื้นที่ทั่วไป หวั่นพ.ค.เปิดเทอมไข้หวัดใหญ่พุ่ง ไข้เลือดออกแนวโน้มลดแต่ยังต้องป้องกันตัวเอง ขณะที่โรคลมร้อน ฮีทสโตรก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 รายมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า ชายแดนใต้หัดป่วยสูงสุด
KEY
POINTS
- ร้อนนี้ ไทยผู้ป่วยโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก เสียชีวิตแล้ว 30 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ถึง 2 เท่า
- ผู้อพยพในค่ายลี้ภัย อ.แม่สอด 906 ราย พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 22 ราย โรคทั่วไป 116 รายและทำแผล 3 รายตรวจคัดกรองโรคมาลาเรีย 289 ราย พบเชื้อมาลาเรียชนิด PV
- คำแนะนำในการป้องกันตัวเองจากะภัยสุขภาพ โดยเฉพาะกากแคดเมียม และแอมโมเนียรั่วไหล ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไม่นานที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 ที่กรมควบคุมโรค (คร.) ในการแถลงข่าว"เกาะติดสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เป็นปัญหา" พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากเหตุการณ์ปะทะกันตรงข้ามฝั่งไทยบ้านวังตะเคียนใต้ อ. แม่สอด จ.ตาก
ทำให้มีการอพยพเข้ามาอยู่ในค่ายลี้ภัย ซึ่งระบบสาธารณสุขไทยมีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่อในค่ายลี้ภัยอยู่แล้ว เนื่องจากสภาพการอยู่อาศัยที่แออัด ระบบการจัดการน้ำทิ้ง การจัดการสิ่งปฎิกูล ขยะ ที่อาจก่อให้เกิดโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และโรคติดต่อนำโดยแมลง
ค่ายลี้ภัยพบอุจจาระร่วง-มาลาเรีย
ข้อมูลช่วงวันที่ 20-21 เม.ย.2567 มีผู้รับบริการ 142 ราย จากผู้อพยพในค่าย 906 ราย พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 22 ราย ตาแดง 1ราย โรคทั่วไป 116 รายและทำแผล 3 ราย ส่วนการประเมินการรับวัคซีนใน 30 รายพบได้รับครบ 24 ราย การตรวจคัดกรองโรคมาลาเรีย 289 ราย พบเชื้อมาลาเรียชนิด PV ซึ่ง เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ จำนวน 1 รายเป็นเด็กชายอายุ 10 ปีได้รับการรักษาแล้ว
คำแนะนำในการป้องกันควบคุมโรคในค่ายลี้ภัยต้องบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดโปร่ง ไม่แออัด มีอากาศถ่ายเท จัดสถานที่ล้างมือด้วยสบู่ มีห้องสุขาและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ จัดระบบเก็บขยะมูลฝอยถูกหลักสุขาภิบาล อาหารที่ทานต้องปรุงสุกใหม่ หากเก็บไว้ต้องนำมาอุ่นก่อนทาน ทั้งโรคไข้มาลาเรียและโรคเท้าช้างอาจพบไม่บ่อยในประเทศไทย แต่ต้องเฝ้าระวังตามชายแดน ซึ่งมีระบบเฝ้าระวังติดตามในพื้นที่อยู่แล้ว
หวั่นเปิดเทอมไข้หวัดใหญ่พุ่ง
สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต้นปี 2567 พบผู้ป่วย จำนวน 128,156 ราย แต่แนวโน้มโดยรวมขณะนี้ลดลง กลุ่มที่พบป่วยส่วนใหญ่เด็กอายุ 0-4 ปี อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนพ.ค.จะเริ่มเข้าสู่การเปิดภาคเรียนและเข้าสู่ฤดูฝน จำนวนผู้ป่วยอาจจะเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากอาการโรคใกล้เคียงกับโควิด-19
การป้องกันการรับเชื้อ คือ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้มีอาการไม่มากควรหยุดอยู่บ้าน พักรักษาตัวให้หายโดยเฉพาะเด็กเล็ก แนะนำกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ ทารก 6เดือน-1ปี ผู้สูงอายุฉีดวัคซีดป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
ไข้เลือดออกแนวโน้มลดลง
โรคไข้เลือดออกพบจำนวนผู้ป่วยสูงตั้งแต่ต้นปี พบผู้ป่วย 24,108 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก 5-14 ปี และพบผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กแต่ก็พบในผู้ใหญ่และผู้มีโรคประจำตัวด้วย แนะนำป้องกันด้วยการนอนในมุ้งหรือติดมุ้งลวด ใช้ยาทากันยุงทั้งในผู้ป่วยและคนทั่วไป
ขอให้ประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการสงสัยมีไข้สูง 2-3วัน ทานยาลดไข้แล้วไม่ลดหรือมีผื่นจุดแดงขึ้นตามตัว ปวดศีรษะอ่อนเพลียให้รีบพบแพทย์
ชายแดนใต้พบหัดอัตราป่วยสูงสุด
โรคหัด ข้อมูลวันที่ 1ม.ค.-19 เม.ย.2567 พบผู้ป่วย 463 ราย ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเด็กต่ำกว่า 5 ปี สถานที่พบการระบาดส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนและชุมชน โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้พบอัตราป่วยสูงสุด
เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน จึงแนะนำให้เด็กเล็กรับวัคซีนตามโปรแกรม ซึ่งการรับวัคซีนเป็นที่ยอมรับและครอบคลุมสูงในประเทศมุสลิม ซึ่งสำนักจุฬาราชมนตรีก็มีประกาศสามารถรับวัคซีนได้ไม่ขัดต่อหลักศาสนา
โรคลมร้อนเสียชีวิตแล้ว 30 ราย
ด้านนพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก(Heat stroke) ช่วงมี.ค.-เม.ย.2567 เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย เทียบปี 2566 ช่วงมี.ค.-มิ.ย. 4 เดือนเสียชีวิต 37 ราย ปีนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า
กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาลเนื่องจากระบบระบายอากาศในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ทหาร ตำรวจ รปภ.
ควรลดหรือเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ดื่มน้ำระหว่างวันอย่างน้อย 2-4 แก้ว/ชั่วโมง เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีมีสีอ่อน สังเกตอาการหากหน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วใจสั่นหน้าแดง รีบพาพักในที่เย็นอากาศถ่ายเท ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งปะคบตามซอกเพื่อระบายความร้อน หากหมดสติให้รีบนำส่งรพ.
ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นไปตามคาดที่พบมาขึ้นหลังสงกรานต์ ไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 รพ.มีความพร้อมและยารักษาอย่างเพียงพอ ยังคงแนะนำป้องกันตนเอง
ผลกระทบกากแคดเมียม-แอมโมเนียรั่วไหล
-
กากแคดเมียม
การติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากกากแคดเมียม และการรั่วไหลของแอมโมเนีย โดยกากแคดเมียม เป็นธาตุโลหะหนักที่มีสีเงินแกมขาว มีคุณสมบัติเบา อ่อน ดัดโค้งได้ง่าย และทนต่อการกัดกร่อน พบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง โดยในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย และอาจพบแร่แคดเมียมได้ในพื้นที่ขุดเหมือง และยังสามารถพบกากแร่แคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคาร
อันตรายจากแคดเมียมเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเฉพาะปอด ไต และกระดูก คำแนะนำสำหรับประชาชน ในกรณีที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีกากแคดเมียม ควรงดเข้าพื้นที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด จัดสภาพแวดล้อมในที่พักอาศัยโดยการทำความสะอาดพื้นที่ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำ หรือเครื่องดูดฝุ่นเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและน้ำบริเวณพื้นที่เสี่ยง หากมีการสูดดมเข้าไปให้รีบไปอยู่ในพื้นที่ โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ สังเกตอาการตัวเองหากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยแจ้งความเสี่ยงทันที
-
แอมโมเนียรั่วไหล
กรณีพบสารแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็ง สารแอมโมเนียที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด โดยแอมโมเนียมีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูง จัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ
ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้ โดยอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับประชาชน ดังนี้
1.ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
2.หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
3.หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที
4.หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาล
5.ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที