ผู้ป่วยฉุกเฉินตายนอกรพ. จากกลุ่มโรคฉุกเฉินราว 100,000 คนต่อปี
“สมศักดิ์”เผยผู้ป่วยฉุกเฉินตายนอกโรงพยาบาลจากกลุ่มโรคฉุกเฉินราว100,000 คนต่อปี เหตุเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงบริการ ตำบลที่มีหน่วยปฏิบัติการแพทย์รองรับให้บริการมีแค่ 3,943 แห่ง ยังขาดอีกถึง 3,312 แห่ง เตรียมนำเรื่องเข้า ครม.หารือ จัดระเบียบรถฉุกเฉินให้มีมาตรฐาน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากที่ได้เป็นประธานการกระชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ครั้งแรกหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง โดยที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาและสมรรถนะของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะมีทั้งในเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ซึ่งแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มขึ้นในทุกๆปี แต่พบว่าตำบลที่มีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ที่รองรับการให้บริการมี 3,943 แห่ง จากทั้งหมด 7,255 แห่ง ยังขาดอีกถึง 3,312 แห่งที่ยังไม่มี คิดเป็น 46 %
“ทำให้ระยะเวลาในการตอบสนองไม่ได้ตามมาตรฐานสากล และมีผู้ป่วยฉุกเฉินตายนอกโรงพยาบาลจากกลุ่มโรคฉุกเฉินประมาณ 100,000 คนต่อปี ถือว่าอัตราการตายของผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยสูงกว่าประเทศพัฒนามากกว่า 2 เท่า แต่ถ้ากลุ่มที่เข้าถึงบริการ EMS พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตถึง 92 % หากได้รับการบริการอย่างเหมาะสมรวดเร็วภายใน 8 นาที”นายสมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ประชาชนยังมีสัดส่วนความรู้ที่ต่ำในการประเมินความเจ็บป่วยฉุกเฉิน การปฐมพยาบาล ขาดการเรียกใช้บริการที่เหมาะสมและทันท่วงที และการขาดแคลนบุคลาการทางการแพทย์ฉุกเฉินระดับวิชาชีพ ศักยภาพของบุคลากรบางส่วนยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
รวมถึงการที่ สพฉ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบและการสนับสนุนค่าชดเชย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอในการดำเนินการแพทย์ฉุกเฉินท้องถิ่น รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการให้บริการ
ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา ชื่อว่า โครงการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐานคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงสถานพยาบาลและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยจะมีการเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชน สร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จัดหา อุปกรณ์ AED ทุกตำบลและแหล่งท่องเที่ยว จัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และยกระดับปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว และสุดท้ายคือการพัฒนาดิจิทัลแบบฟอร์มเพื่อการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แพทย์ฉุกเฉินเป็นหน่วยงานสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤต หากมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากร รวมถึงมีหน่วยแพทย์ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือชีวิตประชาชนได้อย่างมากมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่จะเข้ามายังบ้านเรา ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจได้
“ผมจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องที่ประชุมเสนอแน ะคือ การจัดระเบียบ และการทำหมวดทะเบียนเฉพาะรถฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันมีรถฉุกเฉินที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่เยอะมาก ตรงนี้จะเป็นส่วนของกระทรวงคมนาคม และการจัดการเบอร์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่ควรจะมีเบอร์หลักที่ง่ายต่อการติดต่อของประชาชน รวมถึงอาจจะมีการใช้แอพพลิเคชั่นกลางในการติดต่อได้งด้วยหรือไม่ ตรงนี้จะนำไปหารือแนวทางในที่ประชุม ครม.และกลับมาประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง”นายสมศักดิ์ กล่าว
////////////