“อสม.”ต้นแบบจิตอาสา ถึงวันนี้ที่ถูกผูกโยงกับการเมือง การเลือกตั้งสว 2567
การเลือกตั้งสว 2567 ผลการเลือกตั้งสว 2567 ว่ากันว่ามีอสม.ได้รับเลือกระดับอำเภอสู่ระดับจังหวัดในกลุ่มการสาธารณสุขไม่น้อย บทบาทอสม.จากจิตอาสา สู่วันนี้ท่ามกลางการถูกผูกโยงกับการเมือง
KEY
POINTS
- แม้ว่าอสม.จะมีจุดเริ่มมาจากการเป็นจิตอาสา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะสนใจในเรื่อง “การเมือง”
- ในช่วงกว่า 10 ปีมานี้ มีการดึงอสม.เข้าเชื่อมโยงกับ “ฝ่ายการเมือง”อยู่มาก ระดับที่หากพรรคการเมืองใด ส่งคนมานั่งเป็น “รมว.สาธารณสุข”จะต้องมาพร้อมกับนโนบายที่รุมเอาใจอสม.แทบทุกพรรค
- การเลือกตั้งสว 2567 ผลการเลือกตั้ง สว 2567 จำนวนผู้ได้รับเลือกจากระดับอำเภอไประดับจังหวัด ในกลุ่มที่ 4 กลุ่มการสาธารณสุข มีจำนวนไม่น้อยที่หมวกอีกใบเป็นอสม.ด้วย
ด้วยจำนวนอสม.ทั่วประเทศที่มากกว่า 1.07 ล้านคน หากดึงมาเป็นพวกได้ ย่อมมีฐานกระจายอยู่ในระดับถึงหมู่บ้าน
ถึงวันนี้ ไม่อาจปฏิเสธว่า อสม.ที่เป็นต้นแบบ “จิตอาสา” จำนวนไม่น้อยก็มีการสวมหมวกอีกใบหรืออีกหลายๆใบเป็น “หัวคะแนน”หรือ “ตัวแทนพรรคการเมือง” ทั้งแบบปิดและแบบเปิด
ล่าสุด การเลือกตั้งสว 2567 ผลการเลือกตั้ง สว 2567 จำนวนผู้ได้รับเลือกจากระดับอำเภอไประดับจังหวัด ในกลุ่มที่ 4 กลุ่มการสาธารณสุข จำนวน 1,024 ราย จำนวนไม่น้อยที่หมวกอีกใบเป็นอสม.ด้วย
ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า “มีพรรคการเมืองส่งเสริม”ไม่ต่างจากในสัดส่วนของตัวแทนด้านอื่นๆที่ก็มีเสียงลือหนาหูถึงประเด็นนี้อยู่เช่นกัน
แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือจะทั้งหมดทุกคน อสม.ที่มีการทำงานเพื่อสังคมจนเป็นที่ประจักษ์และได้รับการเคารพนับถือศรัทธาจากคนในพื้นที่จำนวนมาก ก็ส่งผลให้ชนะการเลือกตั้งสว 2567เช่นกัน
อสม.กับเหตุการเมือง
กกต.ทำหนังสืออสม.งดปฏิบัติหน้าที่
เหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนได้อย่างดีว่า “อสม.มาเกี่ยวข้องกับการเมือง”มากขึ้น เมื่อปี 2564 ในการเลือกตั้งอบต.นั้น สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ทำหนังสือ ขอให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)พิจารณา ให้ อสม. ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล หรือนายกองค์การบริหารส่วนตําบล หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งงดปฏิบัติหน้าที่ อสม. จนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ
ทว่า ครั้งนั้น สธ.ทำหนังสือตอบกลับไปยังกกต.ว่า การให้ อสม. งดปฏิบัติหน้าที่ ในช่วงการเลือกตั้งฯ ดังกล่าวข้างต้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ตามบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของ อสม. ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2554 และหลักสากล
ประกอบกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงต้องดําเนินการ ตามมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหาร ส่วนตําบลหรือนายกองค์การบริหารส่วนตําบล หรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีกฎหมายที่บังคับใช้ กับประชาชนผู้มีสิทธิหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว
กล่าวหาอสม.ยุ่งเกี่ยวเลือกตั้ง
ขณะที่ในการเลือกตั้ง 2566 แม้ว่าอสม.จะมีการทำข้อตกลงกับกกต.ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งว่า “จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเลือกตั้ง” และ “ไม่ใช้โลโก้อสม.ในการหาเสียงหรือสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใด” หากจะทำก็ให้ทำในนามส่วนตัว
ทว่า ก็มีข่าวหนาหูเช่นกันถึงกรณีที่อสม.เข้าไปพัวพันกับการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ ทั้งกล่าวหาเป็นหัวคะแนน สนับสนุนบางพรรคการเมือง และเก็บบัตรประชาชน แต่ก็ไม่ได้มีการรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังชมรมอสม.แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด
ปชป.จุดเริ่มค่าตอบแทนอสม.
คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า “อสม.ได้รับความสนใจจากพรรคการเมือง”ขึ้นมามากขึ้น ภายหลังจากที่ในปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้เริ่มมอบเงินค่าตอบแทนอสม. 600 บาท
ตั้งแต่นั้นมา พรรคการเมืองใด จะไม่เหลียวมองให้ความสนใจอสม.เห็นจะไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผู้คนก็ให้ความสนใจในการเข้าเป็นอสม.มากขึ้นเช่นกัน
รัฐบาลประยุทธ์ เพิ่มค่าป่วยการอสม.1,000 บาท
ผ่านมา 10 ปี ในปี 2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการ อสม. เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ จากเดิมอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 1,000 บาทต่อเดือน ขณะนั้นมีอสม.ราว1.05 ล้านคน
ด้วยเหตุผล สธ.มีนโยบายพัฒนา อสม. ให้เป็น อสม. 4.0 โดยให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยให้ประชาชนมีความรอบรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทั่วถึง ทำให้ อสม.มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่า Smart Phone ค่าบริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ อสม.ยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่นร่วมกับทีมหมอครอบครัวเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และผู้ป่วยอื่น ๆ
สวัสดิการอสม. ภูมิใจไทย
ก้าวมาสู่ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีรมว.สาธารณสุข ชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยด้วย ได้มีการเสนอเพิ่มค่าป่วยการอสม. เป็น 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน เนื่องจากมีภารกิจสำคัญในเรื่องการของการดำเนินงานโควิด-19
ก่อนที่จะสิ้นสุดรัฐบาลประยุทธ์ 2 สธ.ก็ได้มีการเสนอครม. เพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็น 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน เริ่มจ่ายอัตรานี้ในปีงบประมาณ 2567
นอกจากนี้ ภูมิใจไทยก็ได้มีการชูนโยบายเกี่ยวกับอสม.หลายส่วน เช่น กฎหมายจัดตั้งสถาบันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน, เจ็บป่วยมีประกัน ชดเชยรายได้ไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และ เงินยืม อสม.อสส.ปลอดดอกเบี้ย คนละ 100,000 บาท ผ่านกองทุนเงินออม อสม./อสส. เป็นต้น
เอาใจอสม. นโยบาย “สมศักดิ์”จากเพื่อไทย
มาถึงปัจจุบันที่มีรมว.สาธารณสุข ชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” จากพรรคเพื่อไทย เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ก็เริ่มต้นด้วยประกาศนโยบายอสม.ด้วยการจะยกร่าง “พรบ.อสม.” หรือ
พ.ร.บ.เกี่ยวกับความมั่นคงในอาชีพของอสม. เพื่อให้ค่าป่วยการอสม.ในการปฏิบัติหน้าที่เดือนละ 2,000 บาท ต้องบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกๆปี แทนที่จะต้องมาของบประมาณเป็นปีต่อปี ในหมวดเงินอุดหนุนซึ่งมีความไม่แน่นอน
รวมถึง การอัปเกรด อสม. ที่มีพื้นฐานการศึกษาดี เปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยพยาบาล ก็จะทำให้มีชีวิตที่มั่นคงขึ้น ก่อนจะไปช่วยเหลือผู้อื่น โดยให้เข้าอบรมที่สถาบันพระบรมราชชนก
และการพิจารณานำเงินโครงการของสมาคมฌาปนกิจสงเคาระห์ อสม. แห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อเสียชีวิตแล้วจะได้รับเงินค่าฌาปนกิจรายละประมาณ 500,000 บาท ต่อคนนั้น ให้นำมาปล่อยกู้บางส่วนในกรณีที่ อสม.เจ็บป่วย ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็เร่งให้คณะทำงานรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข ศึกษารายละเอียดพร้อมทั้งหาทางช่วยให้ยอดหักเงินสงเคราะห์ต่อหนึ่งผู้เสียชีวิตลดลงอีกด้วย