“แรงงานข้ามชาติ”จีดีพีไทยพึ่งพิงถึง 6.2% แต่สังคมกลับมีทัศนคติทางลบ
จีดีพีไทยต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติสัดส่วนถึงประมาณ 6.2% ทว่า กลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ และสังคมยังมีทัศนคติในทางลบ “คณะทำงานฯ MHWG” เดินหน้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพของผู้โยกย้ายถิ่น
KEY
POINTS
- ข้อมูลรายได้ต่อหัวของประชากรไทยหรือจีดีพี ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อย คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 6.2%
- แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพ จากที่ต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน ขณะเดียวกันสังคมยังมีทัศนคติในทางลบ
- เปิดตัว “คณะทำงานฯ MHWG” พร้อมเคลื่อนปัญหาสุขภาพสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพของแรงงานข้ามชาติ ประชากรข้ามชาติ
จีดีพีไทยพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ
ข้อมูลรายได้ต่อหัวของประชากรไทยหรือจีดีพี ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อย คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 6.2% ประชากรกลุ่มนี้จึงถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย คิดเป็น 7.3% ของประชากรวัยทำงานของประเทศ แต่มีอีกจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบการจ้างงาน
ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาตินับเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพ และต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน ทั้งในเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การถูกเลือกปฏิบัติ และข้อจำกัดในการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
- ในจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยจำนวน 3.04 ล้านคน
- มีเพียง 1.43 ล้านคนที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
- ขณะที่จำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานอีกราว 1 - 2.5 ล้านคน ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
- จำนวนผู้ลงทะเบียนในระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2566 มีเพียง 621,737 คน
นอกจากนี้ ภาระในการให้บริการแรงงานต่างด้าวของสถานพยาบาลบางพื้นที่ พบผู้ป่วยนอกคิดเป็น 15% ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล คิดเป็น 27% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด
ในโรงพยาบาล ซึ่งประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปีละกว่าหลายร้อยล้านบาท
สังคมมีทัศนคติทางลบต่อแรงงานข้ามชาติ
ขณะที่สังคมยังมีทัศนคติความเข้าใจต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติในทางลบ โดยจากการสำรวจความคิดเห็นคนไทยต่อกลุ่มประชากรข้ามชาติ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเดือน ก.พ. ปี 2566 - ก.พ. ปี 2567 มองว่า
- กลุ่มแรงงานข้ามชาติทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร 22.9%
- ควรมีการจัดโซนนิ่งแยกกันอยู่กับคนไทย 62.2%
- ไม่สบายใจหากคนในครอบครัวคบหากับประชากรข้ามชาติ 48.9%
คณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
เมื่อปี 2566 มีการรวมกลุ่มของผู้แทนจากหลายภาคส่วน ภายใต้ “คณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Health Sub-Working Group: MHWG)” ภายใต้เครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ประเทศไทย (Thailand United Nations Network on Migration: UNNM)
ซึ่งมีสมาชิกทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันระดับชาติ องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานสหประชาชาติ ขับเคลื่อนประเด็นด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับผู้โยกย้ายถิ่น ตลอดจนการหาแนวทางร่วมกัน เพื่อการส่งเสริมสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นในประเทศไทย
MHWG เป็นคณะทำงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยประกอบด้วยหน่วยงานสำคัญด้านการควบคุมโรค, การวิจัยระบบสุขภาพ, การสร้างเสริมสุขภาพ ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม อาทิสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค, ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (MoPH – U.S.CDC Collaboration - TUC),
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM), องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เป็นต้น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มีการให้บริการพื้นฐานด้านสุขภาพกับประชากรข้ามชาติ เช่น วัคซีนสำหรับเด็กเล็ก หรือวัคซีนบางตัวสำหรับผู้ใหญ่ที่ควรได้รับทั้งคนไทยและประชากรข้ามชาติ เพื่อการป้องกันโรค สร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค,
การเข้าถึงบริการคัดกรองโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ, ระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีการขยายบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
Géraldine Ansart หัวหน้าสำนักงาน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานประเทศไทย และผู้แทนคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (MHWG) กล่าวว่า หมุดหมายสำคัญของคณะทำงาน MHWG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้โยกย้ายถิ่นฐาน คือการมุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยคณะทำงาน MHWG มุ่งเน้น 3 เรื่องหลักๆ คือ
1. การสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมนโยบายที่เปิดกว้างและมีส่วนร่วมสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
2. การยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ ประกันสุขภาพ และระบบสุขภาพของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
3. การสร้างเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ในระบบบริการสุขภาพ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จำเป็นต้องครอบคลุมถึงกลุ่มประชากรข้ามชาติ
ที่เป็นแรงงานสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งเป็นไปตามหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย
คณะทำงาน MHWG จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ทุกฝ่ายนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของประชากรข้ามชาติ ซึ่งวันนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว
โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รับรองว่า คณะกรรมการ MHWG เป็นกลไกที่จะช่วยพัฒนาสุขภาพคนพลัดถิ่นได้เป็นอย่างดี หลังจากนี้คณะทำงาน MHWG จะเป็นตัวกลางในการเสนอแนวทางให้กับรัฐบาลว่าประเทศไทยควรดำเนินการอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้การดูแลผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีทั้งความเป็นมิตร เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลดอคติ สร้างความเข้าใจอยู่ร่วมแรงงานข้ามชาติ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากที่สังคมยังมีทัศนคติทางลง เพื่อลดอคติ และสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน สสส. เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกัน มุ่งสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยสุขภาพผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามที่ควรจะได้รับ มีแนวทางการทำงานสำคัญที่ดำเนินงานร่วมกับภาคประชาสังคมมากกว่า 40 องค์กร
1.มุ่งลดอุปสรรคหรือปัญหาการเข้าถึงสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพ และประกันสังคม
2.พัฒนาศักยภาพแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และสิทธิต่างๆ 2,000 คน เพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลสุขภาพไปยังชุมชน สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้าง และช่วยกระจายข้อมูล องค์ความรู้ที่ถูกต้องไปยังกลุ่มแรงงานได้อย่างกว้างขวาง