รักษา “แพทย์แผนไทย” บูม  5 อาการ เข้ารับบริการมากสุด

รักษา “แพทย์แผนไทย” บูม  5 อาการ เข้ารับบริการมากสุด

คนไทยเข้ารับบริการดูแลรักษาด้วย "แพทย์แผนไทย"มากขึ้น ช่วง 1 ปีจำนวนเพิ่มเท่าตัว  บริการหลัก 5 กลุ่มโรค/อาการ สธ.ขยายรพ.การแพทย์แผนไทยฯทั่วประเทศรองรับ พร้อมจัดสรรงบฯ 300 ล้านบาทพัฒนารพ.ยศเส ขณะที่ยาแผนไทยต้องพัฒนาต่อยอดให้ทันสมัยขึ้น

KEY

POINTS

  • เปิดตัวเลขการใช้บริการในรพ.การแพทย์แผนไทยฯ 1 ปีเพิ่มขึ้นเท่าตัว ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
  • รพ.การแพทย์แผนไทยฯ มุ่งเน้นให้บริการ 5 กลุ่มโรค/อาการ ปวดเรื้อรัง/นอนไม่หลับ สะเก็ดเงิน บำบัดยาเสพติด และ 5 โรคที่มีคนเข้ารับบริการมากที่สุด
  • สธ.ขยายบริการรพ.การแพทย์แผนไทยฯทุกเขตสุขภาพ ช่วยรองรับความต้องการบริการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้มี 13 แห่ง พร้อมจัดสรรงบประมาณ 3 ปี 300 ล้านบาท ขยายรพ.ที่ยศเส เตรียมสร้างอีกที่หนองจอก

แพทย์แผนไทย ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก การขยายบริการจะช่วยรองรับความต้องการบริการของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในมาตรการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสุขภาพของสธ.

รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีภารกิจเกี่ยวกับให้บริการด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงเป็นแหล่งฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ศึกษาวิจัยและพัฒนาวิชาการบริการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก เป็นต้นแบบตามมาตรฐานสากล  ให้กับโรงพยาบาลของรัฐที่มีการให้บริการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีศูนย์ของรพ.การแพทย์แผนไทยฯ ให้บริการรวม 13 แห่ง กระจายตามเขตสุขภาพของสธ. ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประชาชน

รักษา “แพทย์แผนไทย” บูม  5 อาการ เข้ารับบริการมากสุด

ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการรพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน  ให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจว่า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากนโยบายของรัฐที่มีความชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนยกระดับการแพทย์แผนไทย รวมถึง การบอกต่อแบบปากต่อปากของผู้ป่วยที่มารับบริการ และผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น จากที่มีการขยายสาขาของรพ.กระจายอยู่ทั่วประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การให้บริการของรพ.การแพทย์แผนไทยฯมีแนวโน้มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

รพ.แพทย์แผนไทย เปิดบริการ 5 กลุ่มโรคหลัก 

รพ.การแพทย์แผนไทยฯ ให้บริการตรวจรักษา ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพด้วยการนวด อบ ประคบ ฝังเข็มและยาสมุนไพร มีคลินิกเฉพาะทางโรคเรื้อรัง 5 กลุ่มโรค/อาการ ได้แก่

1.คลินิกรักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ (Chronic pain & Insomnia)  

2.คลินิกอัมพฤกษ์ อัมพาตระยะฟื้นฟู (Intermediate care) จะเน้นที่กล้ามเนื้อมัดเล็ก การนวดลดอาการท้องผูก นวดเพื่อให้กลืนได้ และมียาแผนไทยให้เลือกใช้ในการรักษาอาการกลุ่มนี้จำนวนมาก เนื่องจากแพทย์แผนไทยจะเด่นในเรื่องของ “ยาโรคลม” ยาหอม ยาลม ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องของการไหลเวียนลม การไหลเวียนเลือด การระบายออก

3.คลินิกสะเก็ดเงิน  แพทย์แผนไทยจะดูในเรื่อง “ของแสลง” การพักผ่อน การนอนหลับ ปรับสมดุลของร่างกาย โดยในทางการแพทย์แผนไทย จะเรียกชื่อโรคว่า เรื้อนกวางลักษณะผื่นอีกแบบ เรื้อนมูลนกก็จะมีลักษณะผื่นที่ต่างออกไป เมื่อจำแนกมาเป็นโรคแผนปัจจุบันก็คือสะเก็ดเงิน

4.คลินิกมารดาหลังคลอด

และ5.คลินิกบำบัดยาเสพติดด้วยสมุนไพร (Harm reduction) นอกจากนี้ ยังมีการรักษากลุ่มเฉพาะโรคตามคลินิกต่างๆ อาทิ คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย,คลินิกมะเร็ง,คลินิกเบาหวาน และคลินิกการแพทย์พื้นบ้านไทย (บ่งต้อด้วยหนามหวาย)
    

“รพ.เป็นแกนหลักเรื่องการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกน่าจะมีชุดข้อมูลที่ดีที่สุด แต่ไม่สามารถดูแลได้ทุกกลุ่มโรคหรือทุกกลุ่มอาการ เพราะฉะนั้น การดูแลที่ยังสุ่มเสี่ยง ยังไม่มีข้อมูล จะมีทีมแพทย์แผนปัจจุบัน พยาบาล เภสัช เทคนิคการแพทย์ คอยสนับสนุนแพทย์แผนไทย ในการดูเรื่องอาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น คลินิกมะเร็ง คลินิกบำบัดยาเสพติด จะเป็นการดูแลแบบผสมผสานระหว่างแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน เพื่อทำให้การรักษาได้ประสิทธิผลมากขึ้น”ภก.ปรีชากล่าว


รพ.แพทย์แผนไทย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเท่าตัว

ข้อมูลการเข้ารับบริการปี 2565 เทียบกับปี  2566 ในรพ.การแพทย์แผนไทยฯ 6 แห่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกศูนย์ อย่างเช่น

  •  รพ.การแพทย์แผนไทยฯยศเส  ปี 2565 จำนวนผู้ป่วย 11,680 คน รับบริการ  46,092 ครั้ง ปี  2566 เพิ่มเป็น 20,545 คน  70,646 ครั้ง
  • รพ.ที่ศูนย์เรือนไทย กรมการแพทย์แผนไทยฯ ปี 2565 จำนวน 15,512 คน 70,602 ครั้ง ปี 2566 จำนวน 16,077คน 88,575 ครั้ง
  • รพ.ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ปี 2565 จำนวน 8,097 คน  27,778 ครั้ง ปี 2566จำนวน 8,616 คน 38,171 ครั้ง
  • รพ.ที่อุดรธานี ปี 2565 จำนวน 4,417 คน 14,082 ครั้ง ปี 2566 จำนวน 3,994 คน 12,272ครั้ง  รพ.ที่สุรินทร์ ปี 2565 จำนวน 2,967 คน 11,289 ครั้ง ปี 2566 จำนวน 2,813 คน 9,324 ครั้ง
  • รพ.ที่พัทลุง ปี 2565 จำนวน 2,395 คน 9,297 ครั้ง ปี 2566 จำนวน 4,344 คน 8,979 ครั้ง

กลุ่มอาการที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการ 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  • ลมปลายปัตฆาตสัญญาณ 4 หลัง/คอ
  • ลมปลายปัตฆาตสัญญาณ 3 หลัง
  • นอนไม่หลับ
  • ท้องอืด
  • และไอ

 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยชาวไทย ขณะที่ต่างชาตินั้นยังมีน้อย แต่ที่มีเข้ามารับบริการอยู่ เช่น ชาวจีน เมียนมาร์ และอเมริกา เกี่ยวกับอาการปวดเมื่อกล้ามเนื้อ (ลมปลายปัตฆาตสัญญาณ4และ ลมปลายปัตฆาตสัญญาณ 3)

การจัดหา-จัดการยาสมุนไพร

สำหรับยาที่ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

1. ยาสมุนไพรสำเร็จรูป มีทั้งรูปแบบ  ยารับประทาน ที่เป็นยาแคปซูล ยาน้ำ ยาลูกกลอน ,ยาใช้ภายนอก ยาครีม เจล ขี้ผึ้ง โลชั่น จะจัดซื้อกับ ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองคุณภาพการผลิต หรือผ่านมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ให้ได้ยาที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยและมียาบางรายการที่จัดซื้อจากวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าจากวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีผู้ประกอบการดำเนินการเรื่องยาสมุนไพรรองรับมากขึ้น

ยาเภสัชตำรับของโรงพยาบาล เช่น ยาพอกเข่าดูดพิษ ยาแช่ ยาอาบ ลูกประคบสด จะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเภสัซกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาล ซึ่งประกอบไปด้วยสหวิซาชีพ ได้แก่ แพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน พยาบาลและเภสัชกร โดยจะมีการพิจารณาช้อมูลของตำรับยาและจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อยา เพื่อเป็นแบบแผนในการจัดซื้อจัดหายาในแต่ละไตรมาส

และ2. ยาปรุงเฉพาะราย เป็นยาสมุนไพรแห้ง ที่นำมาผ่านกระบวนการ คัดแยก ทำความสะอาด อบแห้ง และแปรสภาพให้พร้อมสำหรับนำไปใช้ทำการรักษาให้ผู้ป่วยแต่ละราย โดยใช้องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยในการปรับตำรับยาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล      

แพทย์แผนไทย ผู้ป่วยเบิกได้ตามสิทธิ

อย่างไรก็ตาม รพ.การแพทย์แผนไทยฯยังมีหน้าที่ในการออกแบบรูปแบบบริการและนำร่องดำเนินการ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยบริการด้านการแพทย์แผนไทยของหน่วยบริการรัฐและเอกชนนำไปใช้เป็นโมเดล โดยปัจจุบันมีภาคเอกชนให้ความสนใจในการเปิดคลินิกการแพทย์แผนไทยมากขึ้น

ซึ่งในส่วนของรูปแบบบริการแต่ละระดับของหน่วยบริการ ควรจะครอบคลุมบริการส่วนไหนของแต่ละกลุ่มโรค สมุนไพรหรือตำรายาแผนไทยจะเข้ากับรูปแบบบริการอย่างไร มีบุคลากรรองรับอย่างไร และข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่รพ.การแพทย์แผนไทยฯจะต้องวางโมเดลด้วย

รวมถึง การเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทยเข้าสู่สิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ ให้ประชาชนได้รับบริการตามสิทธิไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30บาท สามารถเข้ารับบริการแพทย์แผนไทยได้ตามการประกาศของกรมบัญชีกลาง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)แล้ว

แต่ในส่วนของผู้ประกันตน สิทธิประกันสังคมนั้น ต้องพิจารณาจากประกาศของรพ.ตามสิทธิของผู้ประกันตนว่าสามารถใช้บริการแพทย์แผนไทยได้หรือไม่ ซึ่งบางรพ.ก็ให้สิทธิตรงนี้แต่บางรพ.ก็ไม่ได้ให้สิทธิรองรับ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีการจัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายไปให้รพ.แต่ละแห่ง จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรพ.เอง โดยสปส.ยังไม่ได้มีการประกาศสิทธิเรื่องแพทย์แผนไทย

“ล่าสุดได้ช่วยทะลุทะลวงบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร  เพราะสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป เดิมมียาบางตัวที่รพ.ผลิตเอง จึงเขียนว่าเป็นยารพ.ทำให้เอกชนไม่สามารถเข้าไปผลิตได้ ทั้งที่ปัจจุบันมีเอกชนผลิตยาสมุนไพรได้จำนวนมากเป็นอุตสาหกรรมแล้ว จึงต้องนำคำว่ายารพ.ออก เพื่อให้เอกชนผลิตได้”ภก.ปรีชากล่าว  

งบฯ 300 ลบ.ขยายรพ.ยศเส

ภก.ปรีชา กล่าวด้วยว่า  การพัฒนาต่อเนื่องของรพ.การแพทย์แผนไทยฯ ที่ยศเส ได้รับงบประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ 2567-2569 กว่า  300 ล้านบาทในการปรับปรุง เพื่อขยายการบริการที่มีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะรองรับกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก  ขณะที่รพ.การแพทย์แผนไทยฯที่จะสร้างที่เขตหนองจอก กทม. กำลังอยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่ธนารักษ์ หลังจากนั้นจะมีการตั้งงบประมาณ

รักษา “แพทย์แผนไทย” บูม  5 อาการ เข้ารับบริการมากสุด

 อย่างไรก็ตาม ต้องพัฒนารูปแบบยาแผนไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย เช่น ยาหอมทำเป็นสารสกัด พกพาและใช้ได้สะดวก  ยาป้ายริดสีดวงอาจทำเป็นยาเหน็บ เป็นต้น  จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อยอดให้เหมาะกับยุคปัจจุบัน 

แพทย์แผนไทย “บริการดี หมอดี ยาดี”

ขณะนี้ผู้ป่วยสนใจดูแลรักษาแพทย์แผนไทยมาก ความต้องการมาก จึงมีการเปิดหน่วยบริการมาก สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อจากนี้ ภก.ปรีชา กล่าวว่า จะต้องมีการออกแบบบริการให้เหมาะสมกับหน่วยบริการและบริบทพื้นที่  เนื่องจากรพ.มีหน่วยบริการที่เป็นรูปแบบคลินิก  รูปแบบรพ.ศูนย์เขต และรพ.ในระดับที่ใหญ่ขึ้นที่ยศเสหรือหนองจอกก็จะมีรูปแบบบริการที่แตกต่างกัน

 ซึ่งรวมถึงรูปแบบที่เหมาะกับรพ.สต.ที่รักษาในชุมชน รพ.ระดับอำเภอ รพ.ระดับจังหวัด รพ.ศูนย์  ควรจะมีรูปแบบบริการแพทย์แผนไทยแบบไหน, สภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและมหาวิทยาลัย จะต้องรับนโยบายในการผลิตบุคลากรที่สอดคล้อง และยาที่จะนำมาใช้ต้องมีการเชื่อมโยงตั้งแต่การปลูก การผลิตที่ดี การส่งต่อการเก็บรักษาที่ดี  ทั้งหมดรวมเป็น “บริการดี หมอดี ยาดี”

แนวทางพัฒนาแพทย์แผนไทยต่อไป

ส่วนในภาพรวมของแพทย์แผนไทยมีการวางแนวทางไว้ คือ 1. พัฒนาความสามารถของการให้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในสถานบริการสาธารณสุขเพื่อตอบสนองปัญหาด้านสุขภาพ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับสหวิชาชีพและลดความแออัด ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่

2.เสริมสร้างและบูรณาการองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร ที่มีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้กับสหวิชาชีพเพื่อให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่น

 3.พัฒนาความสามารถด้านการบริการการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก และสมุนไพรมุ่งสู่อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ที่มีความเป็นเลิศ

4.ยกระดับบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์พื้นบ้าน ในระบบบริการให้มีสมรรถะสูง รองรับปัญหาสุขภาพในระดับประเทศ

 5.พัฒนากลไกการจัดบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ

รักษา “แพทย์แผนไทย” บูม  5 อาการ เข้ารับบริการมากสุด

 6.พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการจัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่มีคุณภาพให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงและแผนพัฒนาบริการสุขภาพ

และ7.พัฒนากลไกสนับสนุนและบริหารจัดการการขับเคลื่อนแผนพัฒนาบริการสุขภาพ ให้สามารถบูรณาการ กับเครือข่ายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

13 รพ.การแพทย์แผนไทยฯ

1. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขาเขตสุขภาพที่ 1 จ.ลำปาง

2. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขาจ.แพร่

3. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขาเขตสุขภาพที่ 6 จ.ฉะเชิงเทรา

4. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สาขาเขตสุขภาพที่ 8จ.อุดรธานี

5. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สาขาเขตสุขภาพที่ 9 จ.สุรินทร์

6. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขาเขตสุขภาพที่ 11 จ.ชุมพร

7. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สาขาเขตสุขภาพที่ 12 จ.พัทลุง

8. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สาขาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

9. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สาขาลาดกระบัง

10. รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สาขามีนบุรี

11. ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทยฯ (อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์ไทย)

12. เรือนเจ้าพระยาพิศนุประสาทเวช (เรือนหมอคง) กระทรวงสาธารณสุข
13.รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน(ยศเส)