กยศ.ยอดผิดนัดชำระหนี้ใกล้ทะลุ 1 แสนล้านบาท สธ. "แก้หนี้บุคลากรสาธารณสุข"

กยศ.ยอดผิดนัดชำระหนี้ใกล้ทะลุ 1 แสนล้านบาท สธ. "แก้หนี้บุคลากรสาธารณสุข"

กยศ.ยอดผิดนัดชำระหนี้ใกล้ทะลุ 1 แสนล้านบาท ปล่อยกู้เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท ได้รับชำระคืนปีละราว 23,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้กยศ.บุคลากรสธ.ค้างชำระหนี้ 5,702 คน เร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้  สธ.เดินหน้า 5 เรื่องสร้างความมั่นคงการเงินบุคลากร 

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนแผนความมั่นคงปลอดภัยทางด้านการเงิน พร้อมมอบนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสักขีพยานว่า หนึ่งในปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข คือ หนี้กยศ. โดยมีประมาณ 35,472 คน ซึ่งบางส่วนมีโอกาสถูกฟ้องร้องได้ จึงได้หารือกับ กยศ. เพื่อวางแนวทางให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มค้างชำระหนี้ 5,702 คน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยวันที่ 6-7 กรกฎาคม นี้ จะจัดมหกรรมความสุขทางการเงิน เน้นการแก้หนี้อย่างครอบคลุม ยั่งยืนและครบวงจร ให้กับชาวสาธารณสุขทุกคน

จึงมีการลงนามความร่วมมือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการแก้ปัญหาและเร่งรัดปิดหนี้ ให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีการปรับลำดับการหักเงินใหม่ จากเดิมเป็นเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น มาเป็นหักจ่ายเงินต้นก่อน ตามด้วยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ, สามารถผ่อนชำระได้ทั้งรายปี รายไตรมาสและรายเดือน, ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี และเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% ต่อปี

กยศ.ผิดนัดชำระหนี้ใกล้ 1 แสนล้านบาท

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่าภาพรวมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,866,818 ราย 150,871 ล้านบาท คิดเป็น 27 %  อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,501,600 ราย 451,748 ล้านบาท เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 73,041 ราย 6,565 ล้านบาท และอยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,368,162 ราย 161,100 ล้านบาท
การชำระหนี้ของผู้กู้ 5,368,418 ราย โดย 61 %  เป็นการชำระปกติ 3,267,356 ราย ,39 % ผิดนัดชำระหนี้ 2,101,062 ราย  เงินต้นที่ผิดนัด 96,771 ล้านบาท ใกล้จะทะลุ 1 แสนล้านบาทแล้ว 
ตั้งแต่ปี  2539-ปัจจุบัน มีการใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้ว 468,673 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีจะมีการให้กู้เฉลี่ย 40,000 ล้านบาท  มีการชำระหนี้คืนราว 23,000 ล้านบาท  และในปีการศึกษา2567 เตรียมเงินไว้ให้กู้48,344  ล้านบาท สำหรับผู้กู้ 769,009 ราย
สำหรับการปรับโครงสร้าง/แปลงหนี้ของบุคลากรสาธารณสุข จะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1.กลุ่มลูกหนี้ที่ชำระปกติ จะคำนวณยอดหนี้ใหม่ภายใน 6 เดือน หากชำระหนี้เกิน 150% ของเงินต้นแล้ว สามารถหยุดจ่ายได้ทันที เช่น เงินต้น 1 แสนบาท ผ่อนชำระแล้ว 1.5 แสนบาท เป็นต้น ซึ่งจะทำให้หลายคนมีแนวโน้มชำระหนี้ครบแล้ว

 2.กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระ/ผิดนัด จะปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระผู้ค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามอัตราใหม่ โดยจะพักเบี้ยปรับไว้ก่อน เมื่อชำระงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นจะลดเบี้ยปรับ 100% สามารถผ่อนชำระรายเดือนได้สูงสุด 15 ปี โดยมีเงื่อนไขคือ ชำระทุกวันที่ 5 ของเดือน งวดสุดท้ายอายุไม่เกิน 65 ปี แต่หากผิดนัดสะสม 6 งวด จะสิ้นสุดสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เงินเบี้ยปรับที่พักไว้จะกลับคืนมาและถูกดำเนินคดีหรือบังคับคดีต่อไป ซึ่งคาดว่าบุคลากรที่ทำการปรับยอดหนี้/ปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะสามารถปิดหนี้ได้ถึง 6% ของยอดลูกหนี้ทั้งหมด

5 ข้อขับเคลื่อนแผนความมั่นคงฯการเงิน

ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดสธ. กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อนแผนความมั่นคงปลอดภัยทางด้านการเงินของบุคลากรสธ. ประกอบด้วย

1.สร้างวินัยทางการเงิน จัดตั้งคลินิกให้ความรู้ หลักสูตร e-Learning เน้นเรื่องการพนันออนไลน์และอื่นๆ

2.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อสวัสดิการ สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ เป็นต้น โดยร่วมกับธนาคารออมสิน

3.แก้ปัญหาหนี้เสีย(NPL) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงิน มีการแก้ปัยหาหนี้เสียของบุคลากรแล้ว 12 %

4.ลดดอกเบี้ยสหกรณ์ กำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 4.75 %ต่อปี และขยายการชำระหนี้ถึง 75 ปี เป็นต้น

5.แก้หนี้กยศ. ร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ในการคำนวณหนี้ใหม่และปรับโครงสร้างหนี้