“วัณโรคเทียม" มีกว่า 140  สายพันธุ์ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มักดื้อยารักษาวัณโรค

“วัณโรคเทียม" มีกว่า 140  สายพันธุ์ ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น มักดื้อยารักษาวัณโรค

กรมควบคุมโรค เผย “วัณโรคเทียม" อุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 140  สายพันธุ์ ผู้ติดเชื้อมักดื้อยารักษาวัณโรค

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ข้อมูลระบุว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 กว่ารายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis จัดอยู่ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด เชื้อ Mycobacterium แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์  
2. Nontuberculous mycobacteria (NTM) หรือวัณโรคเทียม ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 140  สายพันธุ์ เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรควัณโรค มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
3. Mycobacterium leprae เชื้อมัยโคแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน

การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria - NTM) หรือ วัณโรคเทียม พบว่า มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ คนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค

แต่คนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว หรือโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง

ปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค ซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ ผู้ป่วยวัณโรคเทียม จะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรคเนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น

หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตนเองป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน

ทั้งนี้ สามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง