อย.ปลดล็อก "อาหารฟังก์ชัน" กล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claims)”ได้
มูลค่าตลาดอาหารฟังก์ชันในประเทศ 1 แสนล้านบาท มูลค่าส่งออก 1.28 แสนล้านบาท อัตราการเจริญเติบโต 9 % อย.ไฟเขียว “การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claims)”ได้ 3 ลักษณะ มีผลตั้งแต่ 2 ก.ค.67
KEY
POINTS
- ปี 2567 อาหารฟังก์ชันมีมูลค่าการตลาดในประเทศสูงถึง 100,000 ล้านบาท อัตราการเจริญเติบโต 8 % และมีมูลค่าการส่งออก 128,000 ล้านบาท อัตราการเจริญเติบโต 9 %
- อย.ออกประกาศปลดล็อกให้อาหารฟังก์ชัน “กล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claims)” บนฉลากได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 ก.ค.2567
- 3 ลักษณะการกล่าวอ้างทางสุขภาพ อาหารฟังก์ชันที่อย.อนุญาต การกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร ,การกล่าวอ้างหน้าที่อื่นของ 6 ส่วนประกอบของอาหาร,การกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคของ 2 ส่วนประกอบของอาหาร
อาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) หรืออาหารที่มีการเติมสารอาหาร และสารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพ เป็นกลุ่มอาหารที่ไม่ได้มีเพียงคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของร่างกายให้ทำหน้าที่ได้เป็นปกติ หรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาหารกลุ่มนี้จึงได้รับความสนใจจากทั่วโลก
อาหารฟังก์ชัน มูลค่าตลาด 1 แสนล้านบาท
จากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2567 อาหารฟังก์ชัน มีมูลค่าการตลาดในประเทศสูงถึง 100,000 ล้านบาท อัตราการเจริญเติบโต 8 % และมีมูลค่าการส่งออก 128,000 ล้านบาท อัตราการเจริญเติบโต 9 %
อาหารฟังก์ชัน การแสดงฉลากและการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพจึงเป็นจุดขายที่ตอบกระแสความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claims) บนฉลากต้องได้รับการพิสูจน์ เป็นที่ยอมรับ และน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้ การกล่าวอ้างทางสุขภาพ หมายความว่า การแสดงข้อความ รูป รูปภาพ รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย เครื่องหมายการค้า หรือข้อมูลใดๆที่เกี่ยวข้องกับอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีผลต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม
อาหารฟังก์ชัน 3 ลักษณะ ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและประโยชน์จากการบริโภคอาหารควบคู่กับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ส่งเสริม และสนับสนุนการขับเคลื่อนอาหารฟังก์ชัน
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 447 พ.ศ. 2566 เรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารบนฉลาก โดยได้กำหนดนิยามและลักษณะการกล่าวอ้างทางสุขภาพ รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกล่าวอ้างให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ และมีบัญชีท้ายประกาศฯ กำหนดข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Positive list) 3 ลักษณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล ได้แก่
1. การกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร 28 รายการ จำนวน 135 ข้อความ เช่น
- โปรตีนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
- วิตามินซีมีส่วนช่วยในกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ
- ใยอาหารเพิ่มกากในระบบทางเดินอาหารช่วยประตุ้นการขับถ่าย
- วิตามินบี 1 มีส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตามปกติ
2. การกล่าวอ้างหน้าที่อื่นของ 6 ส่วนประกอบของอาหาร จำนวน 8 ข้อความ เช่น
- เบต้า-กลูแคนจากข้าวโอ๊ต/ข้าวบาร์เลย์ มีส่วนช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล
- โคลีนมีส่วนช่วยในเมตาบอลิซึมปกติของไขมัน
- การลดบริโภคโซเดียมมีส่วนช่วยคงระดับปกติของความดันโลหิต
- การลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวมีส่วนช่วยคงระดับปกติของคอเลสเตอรอลในเลือด
3. การกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคของ 2 ส่วนประกอบของอาหาร จำนวน 4 ข้อความ เช่น
- อาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด คอเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ประกาศฯ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2567 ผู้ประกอบการสามารถนำข้อความเหล่านี้ไปใช้ในการแสดงฉลาก และขอโฆษณาได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารให้ อย. ประเมิน เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา แต่หากประสงค์จะกล่าวอ้างทางสุขภาพที่นอกเหนือจากบัญชีท้ายประกาศฯ นี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นรายงานผลการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพต่อหน่วยงานที่ขึ้นบัญชีกับ อย. ซึ่ง อย. จะพิจารณาอนุญาตเป็นรายกรณี
“อย. มีแผนในการเพิ่มข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพของสารอาหารและสารต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการประเมินทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการในกลุ่มอาหารฟังก์ชัน ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าและเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”ภก.เลิศชายกล่าว