ผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวัง ส่วนผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง กรมสุขภาพจิตเร่งแผนเพิ่มจิตแพทย์
KEY
POINTS
- ผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ ใกล้เคียงช่วง "วิกฤตต้มยำกุ้ง” ขณะที่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวัง
- WHO พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12,000 ล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- กรมสุขภาพจิตเร่งแผนผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ จาก 1.25 คน เป็น 1.7ต่อแสนประชากร
ตามที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ระบุถึงปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566
หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ประกอบด้วยประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.66–22 เม.ย.67
- พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48 %
- เสี่ยงซึมเศร้า 17.20 %
- เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63 % มากกว่าปีที่ผ่านมา
ฆ่าตัวตายใกล้เคียง วิกฤตต้มยำกุ้ง
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 ที่ห้องประชุมชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีการแถลงข่าวความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตและพัฒนาแพทย์และบุคลากรสุขภาพจิตและจิตเวช ในประเด็น “ยุทธศาสตร์และเป้าหมายพัฒนาบุคลากรทางด้านจิตเวชเพื่อประชาชน” นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12,000 ล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความบกพร่องทางใจของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด และผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
เพิ่มจำนวนจิตแพทย์ ใน 5 ปี
เมื่อเทียบกับอัตรากำลังของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดของประเทศยังมีความขาดแคลนไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น
ปัจจุบันมีจิตแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครเพียง 822 คนจำแนกเป็นจิตแพทย์ทั่วไปจำนวน 632 คนคิดเป็น 76.9% และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจำนวน 190 คนคิดเป็นะ 23.1 % อัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ = 1.25 คนต่อ 100,000 ประชากร
รัฐบาลได้เห็นความสำคัญจึงมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้มีการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา5ปี(2565-2570)โดยต้อง
- ผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 150 คน
- ผลิตพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มอีก 1500 คน
- นักจิตวิทยาคลินิกเพิ่มอีก 400 คน
- นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางอีก 250 คน
- เภสัชเฉพาะทางอีก 150 คน
กรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์สุขภาพจิตและยาเสพติด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยร่วมผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการใกล้บ้านอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆได้
ยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรจิตเวชและยาเสพติด
ยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรทางด้านจิตเวชและยาเสพติดเพื่อประชาชน มีหลายด้านที่สำคัญ เพื่อให้การบริการด้านสุขภาพจิตมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย การพัฒนาและเพิ่มจำนวนบุคลากร เพิ่มจำนวนจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อให้สามารถให้บริการครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น ส่งเสริมการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ และความรู้ในด้านจิตเวชและสุขภาพจิตแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเชี่ยวชาญและทันสมัยตามความก้าวหน้าทางการแพทย์
รวมถึง การดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดให้ครอบคลุมตามนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายมายังกรมสุขภาพจิต โดยจะบูรณาการร่วมกับการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชน การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขเพื่อให้การบริการด้านสุขภาพจิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ