5 ท็อป ความเสี่ยงของโลกปี 67 มี 3 เรื่องเหนือกว่า "วิกฤติค่าครองชีพ"

5 ท็อป ความเสี่ยงของโลกปี 67 มี 3 เรื่องเหนือกว่า "วิกฤติค่าครองชีพ"

5 ท็อป ความเสี่ยงของโลกปี 2567 ไทยเร่งยกร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งกองทุน - กำหนดระบบซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก - ภาษีคาร์บอน รวมถึงกำหนดเป้าเข้าสู่ EURO 6  ตั้งแต่ปี 2568 ส่วนนโยบาย 30:30 รถสันดาปต่อรถอีวี ปี 2573

KEY

POINTS

  • The Top Global Risks in 2024 หรือความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเผชิญในปี  2567 ใน 5 เรื่องสำคัญ ซึ่งมี 3 เรื่องที่เหนือกว่า วิกฤติค่าครองชีพ หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ไทยยกร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดจัดตั้งกองทุน ระบบภาษีคาร์บอน  คาร์บอนเครดิต แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
  • กรมควบคุมมลพิษ เผยกำหนดแผนไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐาน EURO 6 เริ่มปี  2568 ในรถเบนซินขนาดเล็ก เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและครม. มีส่วนช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ภายในงาน 1 ทศวรรษ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยเพื่อคนไทยสุขภาพดี มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “ลดและปรับ รับมือ Climate change” โดยนางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทาง และศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  จากรายงานเรื่อง The Top Global Risks in 2024 หรือความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเผชิญในปี  2567 คือ

  • สภาพอากาศที่รุนแรงบนสุดขั้ว 66 %
  • การได้รับข้อมูลข่าวสารผิดๆ และตั้งใจบิดเบือนด้วยเทคโนโลยี AI 53 %
  • การแบ่งขั้ว/ฝักฝ่ายทางสังคมหรือการเมือง 46 %
  • วิกฤติค่าครองชีพ 42 %
  • การโจมตีทางไซเบอร์ 39 %

และในอีก 2 ปีหรืออีก 10 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงในเรื่องของโลกร้อนหรือสภาพอากาศที่รุนแรงแบบสุดขั้ว ถือเป็นผลกระทบที่จะได้รับเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ กรมอยู่ระหว่างการยกร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ..... จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการทำงานเรื่องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว เตรียมเสนอเข้าอนุกรรมการ คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าภายในปลายปี 2567 จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

(ร่าง)พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.....มีการกำหนดหมวดที่สำคัญ อาทิ

  • หมวด 1 ทั่วไป รับรองสิทธิของประชาชน และกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน
  • หมวด 2 เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
  • หมวด 3 คณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบในการออกกฎหมายลำดับรองหรือหลักเกณฑ์ตามที่พ.ร.บ.กำหนด
  • หมวด 4 กองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการ และใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง
  • หมวด 5 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรอบการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยตามระยะเวลาที่กำหนด
  • หมวด 6 ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
  • หมวด 7 การลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐสอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
  • หมวด 8 ระบบซื้อขายสิทธิ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการขจัดแรงจูงใจในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจูงใจการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตสูง
  • หมวด 9 ระบบภาษีคาร์บอน มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจัดการกับปัญหาการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก จัดเก็บภาษีสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • หมวด 10 คาร์บอนเครดิต เพื่อให้คาร์บอนเครดิตในประเทศมีความน่าเชื่อถือ กำหนดกรอบการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำกับดูแลให้การประกอบธุรกิจคาร์บอนเครดิตมีความน่าเชื่อถือ เป็นต้น

เริ่มปี 68 ไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงEURO 6

ขณะที่ นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติคือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate change มีผลต่อมนุษย์ทุกคนในโลก จึงจะต้องลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และมีการปรับตัว การจัดการมลพิษทางอากาศถือเป็น co-benefits ของเรื่องไคลเมทเชนจ์  ทั้งนี้กรมมีการกำหนดมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนช่วยในเรื่องลดการระบายของก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น

โดยตั้งแต่ปี  2567 ประเทศไทยใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และรถยนต์เทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 และตอนนี้คุยกันแล้วถึงEURO 6 มีการเจรจาผู้ประกอบการได้ข้อสรุป จากแผนเดิมที่จะเข้า EURO 6 ในปี 2565 ล่าสุด ภายใต้การเจรจาในมิติเศรษฐกิจและอื่นๆ ตกลงร่วมกัน จะเริ่มเข้าสู่ EURO 6 ตั้งแต่ปี 2568 จากนี้จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและเข้า ครม.ต่อไป กำหนดตามขนาดรถ

  •  รถเบนซินขนาดเล็ก 1 ม.ค.2568
  • รถเบนซินขนาดใหญ่ 1 ม.ค.2569
  • รถดีเซลขนาดเล็ก  1 ม.ค.2570
  • รถดีเซลขนาดใหญ่ 1 มค.2571

จะส่งผลให้รถยนต์ขนาดเล็กช่วยลดการระบายไนโตรเจนออกไซด์ อย่างน้อย 56 % รถยนต์ขนาดใหญ่ช่วยลด 80 % และลดการระบายฝุ่นละออง 66 % เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้อย่างน้อย 30 % ลดการระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 %
ส่วนรถอีวี เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพลังงาน ร่วมสนับสนุนรถยนต์ที่ใช้มลพิษต่ำ ไฮบริด/อีวี อย่างน้อย 30 % ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 หรือที่เรียกว่า นโยบาย 30 :30 คือ หากรถสันดาป 30 % ต้องมี อีวี 30 เพื่อให้เกิดความสมดุลในเรื่องของยานยนต์

ขับเคลื่อนอนามัยสิ่งแวดล้อม

ด้านพญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบาย และทิศทางการพัฒนาต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันเป็นยุคยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน

ขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี ให้มีการจัดการเมืองที่คำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานโรงแรม และแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้ปฏิบัติงาน

จัดตั้งทีมปฏิบัติการ SEhRT รับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และจัดการสิ่งคุกคามสุขภาพสมัยใหม่ ด้วยการเฝ้าระวัง สื่อสารความเสี่ยง ในการป้องกันผลกระทบจากมลพิษอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความรอบรู้ และเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขอนามัย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยอนามัยโพล และขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ในพื้นที่เสี่ยงด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เช่น เหมืองทอง EEC SEZ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์