"อาหารติดคอ" หาก 1 คำมีเนื้อสัตว์หลายชนิด เพิ่มความเสี่ยง
อาหารที่มีเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดใน 1 คำ อาจสำลักได้ง่าย-อาหารติดคอ เสี่ยงอุดกั้นทางเดินหายใจ สมองขาดออกซิเจน-เสียชีวิต
แอดมินเพจเฟซบุ๊ก น้องอิคคิว ซึ่งเป็นคุณพ่อของน้องอิคคิว ได้โพสต์แจ้งข่าวเศร้าว่า น้องอิคคิว ได้จากโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 03.59 น. วันที่ 7 ม.ค.2567
ทั้งนี้ เมื่อ 10 ปีก่อน น้องอิคคิว ในวัย 7 ขวบ ได้ประสบเหตุลูกชิ้นปลาติดคอ เข้าไปค้างอยู่ที่หลอดลมทำให้หายใจไม่ออก สมองขาดออกซิเจน 3 นาที ส่งผลต่อสมองถูกทำลายทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
อันตราย อาหารติดคอ
สำหรับเหตุการณ์สิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น กระดุม เหรียญ น็อต ลูกอม ติดคอ สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่มักเกิดจากการกินอาหารชิ้นใหญ่ หรือเคี้ยวไม่ละเอียด จึงเกิดการติดคอ และปิดกั้นหลอดลม จนขาดอากาศหายใจได้
อันตรายของ"อาหารติดคอ" ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเรื่องอาหารติดคอ อย่ามัวรีรอ อันตรายกว่าที่คิดไว้ว่า อาหารติดคอหรือการสำลักอาหารเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
หากมีอาการเหมือนอาหารติดคอ ให้ลองสังเกตอาการดูว่ายังสามารถไอหรือพูดได้อยู่ไหม หากยังไอหรือพูดได้ อาหารอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน
แต่หากอาหารอุดกั้นทางเดินหายใจทั้งหมด มีอาการหายใจไม่ออก พูดหรือร้องไม่มีเสียง มีอาการหน้าเขียว ปลายมือเท้าเขียว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือหากไม่แน่ใจวิธีปฐมพยาบาลให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669
การปฐมพยาบาลเมื่ออาหารติดคอ
- เด็กโตและผู้ใหญ่ ใช้วิธีรัดกระตุกหน้าท้อง
- เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ตบหลัง 5 ครั้ง แล้วกดหน้าอก 5 ครั้ง
- ห้ามใช้วิธีรัดกระตุกที่หน้าท้องของเด็กทารกโดยเด็ดขาด
- กรณีผู้ป่วยหมดสติหรือไม่รู้สึกตัว ให้จับผู้ป่วยนอนหงาย กดหน้าอกนวดหัวใจ ช่วยหายใจ เปิดปากนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
สาเหตุที่ทำให้อาหารติดคอ
- ประมาท เช่น การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด, รีบรับประทานจนเกินไป, ไม่ระมัดระวังกระดูกจากเนื้อสัตว์หรือเมล็ดผลไม้
- เด็กเล็ก วัยนี้จะหยิบจับอะไรก็มักจะนำเข้าปาก บางอย่างไม่ใช่ของที่รับประทานจึงทำให้ติดคอได้ รวมทั้งฟันกรามยังไม่แข็งแรงที่จะสามารถเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่
- อุบัติเหตุ โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ฟันปลอม หรือเพิ่งได้รับการรักษาทางทันตกรรมและช่องปาก
- โรคหรือภาวะความผิดปกติ หลอดอาหารเป็นอัมพาต ,โรคประสาทที่ส่งผลต่อการกลืน,ผู้ป่วยทางจิตเวช
การป้องกันอาหารติดคอ
กรมอนามัย แนะนำ การป้องกันอาหารติดคอหรือสำลักอาหาร วิธีการปฏิบัติดังนี้
1.นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที
2.เคี้ยวและกลืนอาหารช้า ๆ อย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ
3.อย่ากินอาหารขณะเหนื่อย ควรพักก่อนสัก 30 นาที
4.อาหารที่กินควรมีขนาดชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่หรือเหนียวเกินไป
5.ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การดูทีวี เพื่อป้องกันการหัวเราะขณะกลืนอาหาร
6.กินอาหารคำละ 1 ชนิด เนื่องจากอาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย
7.ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่ายไม่ฝืดคอ
และ 8.หากอาหารที่กินแข็งหรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ,กรมอนามัย,รพ.เพชรเวช