เดินหน้า ส่ง(ร่าง)ประกาศคืน "กัญชาเป็นยาเสพติด"เข้าบอร์ดป.ป.ส.แล้ว
คกก.ควบคุมยาเสพติดให้โทษเดินหน้า ส่ง(ร่าง)ประกาศสธ.คืนกัญชาเป็นยาเสพติดเข้าบอร์ดป.ป.ส.แล้ว ส่วนข้อเสนอให้ “กัญชาเป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข” มอบอย.เสนอเป็นความเห็นเพิ่มเติม ขณะที่เครือข่ายเยาวชนฯย้ำประชาชนส่วนใหญ่หนุนให้เป็นยาเสพติด
ความคืบหน้าคืนกัญชาเป็นยาเสพติด หลังจากที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นการยื่นข้อเสนอใหม่ที่เป็น(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดแบบมีเงื่อนไข ต่างจาก(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(บอร์ดป.ป.ส.)เป็นด่านสุดท้าย
กัญชาเป็นยาเสพติด ส่ง(ร่าง)ประกาศให้บอร์ดป.ป.ส.แล้ว
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ได้มีการประชุมพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567 โดยมติเห็นชอบให้ระบุชื่อ กัญชาและกัญชง ในส่วนของช่อดอกและสารสกัดที่มีTHCเกิน 0.2 % เป็นยาเสพติด ตนได้ลงนามเพื่อส่งร่างประกาศฯ ไปยังบอร์ด ป.ป.ส. แล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2567
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการนำข้อเสนอของนายปานเทพมาพิจารณาและเสนอไปด้วยหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ไม่ได้ส่งไป เนื่องจากร่างประกาศฯ ที่เป็นมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ได้ถูกส่งไปก่อนแล้ว ส่วนร่างของอาจารย์ปานเทพ ท่านก็จะต้องไปยื่นที่ ป.ป.ส. ส่วนบอร์ดป.ป.ส.จะประชุมเกี่ยวกับวาระเรื่องนี้วันไหนยังไม่ทราบ
มอบอย.ส่งความเห็นกัญชาเพิ่มเติม
วันเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายยศกร ขุนภักดี ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด(YNAC) และ รศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ผู้แทนเครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เพื่อขอบคุณ
โดยมีนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข รับเรื่องพร้อมกล่าวว่า สธ. รับฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบังคับใช้กฎหมายและการใช้ประโยชน์จากกัญชา อย่างไรก็ตาม (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯที่ นายปานเทพ นำมายื่นก่อนหน้านั้น รมว.สาธารณสุข มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำไปประมวลเพื่อสรุปผล ก่อนนำเสนอเป็นส่วนของความเห็นเพิ่มเติมต่อบอร์ด ป.ป.ส.คาดว่าจะสามารถนำเสนอได้ภายในสัปดาห์นี้
คืนกัญชาเป็นยาเสพติด ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ
นายยศกร กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2567 ซึ่งถือเป็นการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ในวันนี้ทางเครือข่ายฯ จึงเดินทางมาขอบคุณคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม และกล้าหาญ โดยคำนึงถึงการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน ด้วยการยุติการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการโดยไม่มีการควบคุมอย่างชัดเจน
การกำหนดนโยบายกัญชาเช่นนี้ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่แสดงออกในหลายวาระที่ผ่านมา อาทิเช่น ผลสำรวจประชาชนของนิด้าโพลเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่พบว่า75% ของประชาชนต้องการให้นำกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติด และกรณีประชาชนกว่า 2 แสนคนร่วมลงชื่อกับเครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด เพื่อสนับสนุนให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดและใช้เพื่อการแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ เป็นร่างที่ประชาชนเห็นชอบด้วยเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนกว่า 80,000 คน คิดเป็นเกือบ ๘๐ % ของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด) ดังนั้น ร่างนี้จึงควรให้ความสำคัญมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการพยายามเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขอันใหม่ขึ้นมา โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนที่สนับสนุนร่างนี้
กัญชาทางการแพทย์ยังทำได้
ถึงแม้จะมีการใช้ประกาศกระทรวงฉบับนี้ในอนาคต กัญชาก็ยังสามารถใช้ทางการแพทย์ได้ โดยการพัฒนาระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือการออกประกาศหรือกฎกระทรวงที่เหมาะสม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด ตลอดจนการพัฒนากฎหมายกัญชาเป็นการเฉพาะเพื่อออกมาใช้ในอนาคต ซึ่งต้องทำหลังจากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก่อนแล้วเท่านั้น เพื่อให้เกิดสภาพการคุ้มครองไม่ให้เกิดโทษจากกัญชากับประชาชนและเยาวชน
กัญชาทำหี้โอกาสติดยาได้ประมาณ 30 %
ด้าน รศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวว่า การที่มีพูดกันว่ากัญชาติดยากกว่าบุหรี่หรือเหล้าโดยติดราว 20-30 % ส่วนกัญชาประมาณ 9 % เป็นงานวิจัยเก่าตั้งแต่ปี 2011 และงานวิจัยนี้มีหลายประเด็นและเจอว่ากัญชาแม้ว่าเปอร์เซ็นต์ติดยากกว่าแต่ติดเร็วกว่า คือใช้ไม่กี่ปีแล้วติด แต่ถ้าเป็นบุหรี่ เหล้าต้องใช้นานๆแล้วติด เพราะฉะนั้นกัญชาติดเร็วกว่า
สุดท้ายงานวิจัยนี้ถ้าไม่หยิบมาแค่ส่วนเดียว จะพบว่ามีการเขียนไว้ว่ากัญชาต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะติดได้เร็วกว่ามาก แล้วมีงานวิจัยใหม่เพิ่งเผยแพร่ในศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา(CDC) ระบุว่ากัญชาทำหี้โอกาสติดยาได้ประมาณ 30 % จะเห็นว่าจาก 9% เพิ่มเป็น 30 %นานแล้ว โดยอ้างอิงงานวิจัยปี 2021-2022 ซึ่งเป็นงานวิจัยใหม่ ดังนั้น งานวิจัยปี 2011 ทิ้งไปได้แล้ว โบราณแล้ว แต่ควรเชื่องานวิจัยใหม่ว่ากัญชาติดได้ประมาณ 30 %
รศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่เห็นควรว่า ควรใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งข้อมูลล่าสุด จาก World drug report 2024 ยืนยันว่าการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการบ่อยๆ มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะติดยา และมีอาการทางจิตเวชแบบคลุ้มคลั่งได้ ขณะเดียวกัน United Nations office on Drugs and Crime ระบุว่าการเริ่มใช้กํญชาในวัยรุ่น
โดยเฉพาะการใช้เป็นประจำทำให้มีความเสี่ยง ในการติดกัญชา ก่อให้เกิดปัญหาจิตเวชและพัฒนาการเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่โดยเฉพาะทางสมอง ดังนั้น ตอนนี้จึงอยากให้มีความชัดเจนในการควบคุมก่อน จึงควรนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ส่วนอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ค่อยมาคุยกัน เนื่องจากทั่วโลกที่มีนโยบายกัญชาเสรี ก็ต้องมี พรบ.ควบคุมออกมาก่อน