ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยเป็นที่ประจักษ์
สองอาทิตย์ก่อน นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้เผยแพร่บทความ An Asian Model หรือ โมเดลหนึ่งของเอเชีย ชมเชยความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย และสาธยายถึงเหตุผลและปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี
เพราะประเทศเราขาดการพูดถึงในเรื่องดีๆ มานานโดยสื่อมวลชนระดับโลก วันนี้จึงขอต่อยอดมุมมองของ ดิ อีโคโนมิสต์ เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขประเทศเราด้วยความเห็นของผมว่า อะไรคือความท้าทายที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไปเพื่อรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศให้ดีต่อไป นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
บทความดิ อีโคโนมิสต์ เริ่มต้นด้วยข้อสังเกตว่า แม้การเมืองในประเทศไทยจะไม่ค่อยยอมกัน วุ่นวายและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ่อย คือถึงสิบเอ็ดคนช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่เสถียรและงอกงามในเชิงธรรมาภิบาล คือระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพมากสุดประเทศหนึ่งในโลก
เห็นได้จากอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยปัจจุบันที่ 80 ปี มากกว่าอายุขัยเฉลี่ยของประเทศเพื่อนบ้านในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนอเมริกันและยุโรป
นอกจากนี้ร้อยละ 99.5 ของประชากรไทยจากทั้งหมด 77 ล้านคนมีประกันสุขภาพ นี่คือความสําเร็จที่ประเทศไทยทำได้แม้เป็นประเทศกําลังพัฒนาที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาถึงสิบเอ็ดเท่า ในปี 2021 ท่ามกลางการระบาดของโควิด รายจ่ายด้านสาธารณสุขของไทยอยู่ที่ร้อยละ 6 ของจีดีพี เทียบกับร้อยละ 17 ในสหรัฐและร้อยละ 11 ในยุโรป
ความเข้มแข็งนี้ ดิ อีโคโนมิสต์ วิเคราะห์ว่าเป็นผลจากสามปัจจัย
หนึ่ง การมุ่งพัฒนาพื้นที่ชนบทในช่วงยุค 1970s ซึ่งเป็นช่วงที่อิทธิพลของลัทธิคอมมูนิสต์กําลังแผ่ขยายในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ผลคือในปี 1990 ทุก 928 อำเภอในประเทศไทยมีโรงพยาบาล
สอง การให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยการประกันสุขภาพ เริ่มที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ยากจน ขยายไปสู่คนทำงานในภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal sector)
แต่ที่มีผลมากสุดคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มในปี 2002 ที่ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพในยามที่ต้องการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสําหรับคนจน และมีค่าบริการเพียง 30 บาทสําหรับคนทั่วไป
สาม ความต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รายจ่ายถูกชดเชยด้วยงบประมาณประจำปีจากรัฐบาล ทำให้หลักประกันมีความต่อเนื่องและสามารถขยายให้ครอบคลุมโรคร้ายแรงเช่น โรคเอดส์ โรคไต รวมถึงการป้องกันโรค
ที่สำคัญโรงพยาบาลระดับอําเภอจะได้รับเงินสนับสนุนในการรักษาตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวของประชากรในพื้นที่ไม่ว่าจะรักษาโรคอะไร ทําให้โรงพยาบาลต้องใช้เงินอย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สามารถควบคุมรายจ่ายด้านสาธารณสุขให้อยู่ในระดับ 3-4 เปอร์เซนต์ของจีดีพี
ท้ายสุด บทความพูดถึงความท้าทาย โดยเฉพาะแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขและงบประมาณของประเทศจากสังคมสูงวัย ที่หนึ่งในสามของพลเมืองประเทศไทยจะสูงวัยคือมีอายุมากกว่า 60 ปีในอีกสิบปีข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐไทยตระหนักและกําลังขยายจํานวนบุคลากรการแพทย์ รวมถึงทําโครงการสำหรับผู้สูงอายุ และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของระบบสาธารณสุขไทยที่จะเป็นตัวอย่าง
ความเห็นของ ดิ อีโคโนมิสต์ ผมคิดว่าสะท้อนความรู้สึกที่ดีต่อระบบสาธารณสุขประเทศเราที่หลายส่วนในสังคมโลกมี เช่น
ปี 2021 ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ หรือ Global Health Security Index ที่วัดความพร้อมของประเทศในการรับมือโรคระบาดและการระบาดใหญ่ ทำโดยมหาวิทยาลัย John Hopkins จัดระบบสาธารณสุขไทยเป็นอันดับห้าของโลก สูงสุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศกําลังพัฒนา
ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกัน เป็นการยอมรับที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นศูนย์ระดับโลกในเรื่องสุขภาพ เป็นผลจากงานสาธารณสุขในระดับพื้นฐานของประเทศที่เข้มแข็ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางการแพทย์ และความต่อเนื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ขอต่อยอดว่า ผมเห็นด้วยว่าแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของประเทศจะมีมากขึ้น จากความต้องการในการรักษาพยาบาลที่จะสูงขึ้น ทั้งที่มาจากจำนวนคนสูงวัยในประเทศที่จะเพิ่มขึ้น
คือเมื่อแก่ขึ้นโรคก็มีมาก และจากการไหลเข้าของคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้าน ตะวันออกกลาง และประเทศอื่นๆ ที่ต้องการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงจากจำนวนคนยากจนหรือคนมีรายได้ตํ่าในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งหมดจะกดดันทรัพยากรทางการแพทย์ที่ประเทศมี ทําให้ต้นทุนและราคาจะสูงขึ้น ผลคือคนไทยจํานวนมากขึ้นๆ จะไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพได้ นี่คือปัญหาที่จะตามมา
ดังนั้น นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทางการกําลังทําอยู่ ในแง่นโยบาย ประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆในสังคมทั้งในแง่พื้นที่และระดับรายได้ก็สําคัญ
ซึ่งการแก้ไขอาจเริ่มด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี่มาช่วย เช่น แก้ปัญหาการเข้าถึงในพื้นที่ห่างไกลด้วยเครื่องมือที่ตรวจและให้ยาทางไกล (Telemedicine) เพื่อลดแรงกดดันต่อทรัพยากร รวมถึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการบริหารจัดการการไหลเข้าของคนไข้จากต่างประเทศเพื่อรักษาคุณภาพของระบบสาธารณสุขของประเทศเรา
ซึ่งขณะนี้การไหลเข้ากระทบการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลระดับบนของประเทศเป็นหลัก แต่ต่อไปถ้าปริมาณมีมากขึ้นก็จะกระทบการรักษาพยาบาลในทุกระดับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล