ชัดสถานะ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” แนะดันร่างพ.ร.บ.ฉบับ ภท.เร็วสุด

ชัดสถานะ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด”  แนะดันร่างพ.ร.บ.ฉบับ ภท.เร็วสุด

ภาคประชาชนชี้นายกฯให้ใช้พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา  ชัดสถานะ “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” ระบุมีร่างพ.ร.บ.อยู่แล้ว 4 ฉบับ  ครม.เร่งเห็นชอบส่งสภา แนะดันฉบับ ภท.เร็วที่สุด

จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ระบุว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พิจารณาและตัดสินใจว่าควรออกเป็น พ.ร.บ.มาควบคุมการใช้กัญชา

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ว่า ตนในฐานะภาคประชาชน ก็ถือว่าพึงพอใจกับนโยบายของท่านนายกฯ เพราะสิ่งที่เราต้องการก็คือ การควบคุมกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และควบคุมไม่ให้ใช้อย่างเกิดโทษ จึงต้องการออก พ.ร.บ.เป็นการเฉพาะ

ชี้ชัดสถานะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด

“ความเห็นชอบของท่านนายกฯ ที่ต้องการให้ตรากฎหมายกัญชากัญชงด้วย พ.ร.บ. ก็แปลว่า ไม่จำเป็นต้องพิจารณานำกัญชากลับสู่ยาเสพติด ดังนั้น (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ที่ทางคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) ก็อาจจะอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ถูกนำมาพิจารณา เพราะถ้าหากมีการนำมาพิจารณาว่าจะเอากัญชาเป็นยาเสพติด ก็จะสวนทางกับที่ทางนายกฯ มอบนโยบายไว้” นายปานเทพ กล่าว 

 ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่ามีความชัดเจนเรื่องสถานะของกัญชาแล้ว นายปานเทพ กล่าวว่า ถ้าจะเป็นยาเสพติดก็คงเป็นแล้ว เพราะกำหนดการประชุมของบอร์ดป.ป.ส. คือวันที่ 23 ก.ค.2567 แต่กลับถูกเลื่อนประชุมออกไป  ซึ่งการที่ท่านนายกฯ บอกว่าให้ออกเป็น พ.ร.บ. ความหมายคือ ต้องไม่เอาเป็นยาเสพติด ถึงจะออกเป็นพ.ร.บ.ได้ จะเหมือนกับพืชกระท่อมที่ถอดออกจากยาเสพติด และตรากฎหมายเป็นพ.ร.บ.

ดังนั้น ภายใต้หลักการนี้ จะออกเป็น พ.ร.บ. ได้ ก็ต่อเมื่อมันไม่เป็นยาเสพติด เพราะถ้าเป็นยาเสพติด ก็ไม่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.เฉพาะใหม่ สามารถใช้ ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ควบคุมกำกับได้ 

กัญชาจำเป็นต้องมีพ.ร.บ.ควบคุม

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า ตนมองว่าการที่ท่านนายกฯ มอบนโยบายให้ออก พ.ร.บ.กัญชา มาควบคุม ส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อสู้ระหว่างข้อมูลของภาคประชาชน กับข้อมูลของส่วนภาครัฐ และส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องกัญชา ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายภาคการเมือง เพราะอำนาจในการตัดสินใจล้วนอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งสิ้น อำนาจการต่อรองทางการเมือง และการเจรจาจึงมีบทบาทสำคัญในการตัดสินเรื่องนี้

"การระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทำให้ขั้นตอนการใช้ประโยชน์ กัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจมีความยุ่งยากอย่างมาก เช่น แพทย์คนหนึ่งจะจ่ายยาที่อยู่นอกเหนือตำรับยาของ สธ.จะต้องกรอกข้อมูล 1 คน 47 หน้า ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการที่จะนำมาใช้ประโยชน์ และควบคุมในทางที่ผิดก็จะต้องตราออกมาเป็น พ.ร.บ.เพื่อจัดการกับมัน ซึ่งเรื่องนี้จะทำไม่ได้ภายใต้กฎหมายยาเสพติด และทำไม่ได้กับกฎหมายที่ประยุกต์ใช้อยู่ในปัจจุบันเพราะว่าบทลงโทษไม่รุนแรง" นายปานเทพ กล่าว

ถามถึงกรณีที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข  มีความกังวลว่าการออก พ.ร.บ. มาควบคุมกัญชาจะไม่ทันภายใต้เงื่อนเวลา 2 ปี  นานปานเทพ กล่าวว่า เรื่อง 2 ปี คงเป็นเรื่องการออกกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก เพราะถ้าจะตราเป็นกฎหมายจริงๆ ทำไม่กี่เดือนก็เสร็จ แต่บอกไม่ได้ว่าถ้าเริ่มทำพ.ร.บ.กัญชาแล้วจะเสร็จภายในกี่เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพิจารณา

 

จี้ ครม.เร่งผ่าน 4 ร่างพ.ร.บ.กัญชาส่งสภาฯ

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า  ถ้าจะทำให้เร็ว ทำเพียง 3 วาระก็ได้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา วางอยู่หน้าท่านนายกฯ ถึง 4 ฉบับ เป็นฉบับของพรรคภูมิใจไทย(ภท.) 1 ฉบับ ฉบับของเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย 1 ฉบับ ฉบับภาคผู้ประกอบการ 1 ฉบับ และฉบับสุดท้ายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สาธารณสุข ได้ส่งเข้าไป

“ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน โดยทั้ง 4 ร่างยังไม่ผ่านเลย จากที่นโยบายยังไม่ชัดเจน เพราะถ้ากัญชาจะเป็นยาเสพติด ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.  แต่ถ้าไม่เป็นยาเสพติดก็จะต้องเริ่มนับ 1 จากการเร่งพิจารณาให้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. เพื่อไปสู่การพิจารณาของสภาต่อไป" นายปานเทพ กล่าว

 

แนะดันร่างพ.ร.บ.กัญชาฉบับ ภท.เร็วสุด

จากที่ได้ดู ร่างพ.ร.บ.กัญชา ทั้ง 4 ฉบับแล้ว มีความเห็นว่าแต่ละฉบับมีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่มีร่างหนึ่งที่ผ่านการถกเถียงมาในที่ประชุมสภาเมื่อสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี คือร่างฉบับของ ภท. ซึ่งผ่านมาครึ่งทางเข้าสู่วาระที่ 2 แล้ว หาก ภท.นำร่างที่ผ่านการถกเถียงมาแล้วเข้าไปเสนอต่อท่านนายกฯในรอบนี้  อาจจะทำให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาเร็วขึ้น  เพราะร่างของภาคประชาชนก็มีเนื้อหาคล้ายกัน

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า เมื่อนำร่างพ.ร.บ.สู่สภาก็เข้าสู่วาระที่ 1 รับหลักการ ถ้ารับทั้ง 4 ร่างก็อาจจะตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 4 ร่าง เพื่อพิจารณาพร้อมกัน แต่มีร่างของภาคประชาชนเข้ามาด้วย ก็จะต้องเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนมากขึ้นด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มที่เสนอร่างก็ต้องส่งตัวแทนเข้าไป ก็จะเป็นสัดส่วนของ สส. บวกกับภาคประชาชนอีกครึ่งหนึ่ง 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์