วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ไปต่อหรือพอแค่นี้

วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ไปต่อหรือพอแค่นี้

หลังพบว่าคดียาเสพติดเพิ่ม 4-5 เท่า นายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับ รมว.สธ. 8 พ.ค.67 สั่งการให้แก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึง “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ผลจากการแก้กฎกระทรวงนี้ อาจทำให้คดียาเสพติดน้อยลง ช่วยแก้ไขให้สถานการณ์การติดยาเสพติดของประเทศไทยดีขึ้น หรืออาจทำให้ผู้ประกอบการด้านกัญชาที่ลงทุนสร้างธุรกิจทั้งเรือนเพาะปลูกและร้านค้าขาดทุน เพราะเพิ่งลงทุนและยังดำเนินการไม่ถึงจุดคุ้มทุน

แต่ที่แน่ๆ ผลจากการแก้ไขกฎกระทรวง คงทำให้วงการวิจัยกัญชาของประเทศไทยหยุดชะงัก และถอยหลังกลับสู่ยุคมืดอีกครั้ง

พระราชบัญญติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ปี พ.ศ. 2562 กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ปลูกและขายไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ไปต่อหรือพอแค่นี้

จึงจะสามารถปลูกในกรณีจำเป็นได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตร       พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ 

แต่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษมีมติเห็นชอบในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้นำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563

โดยให้สามารถใช้ลำต้น เปลือก เส้นใย กิ่ง ราก ใบ สารสกัดที่มีเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) และแคนนาบิไดออล (CBD) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และเมล็ด นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่นๆ ได้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า รัฐบาลไทยประกาศปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ แต่พบว่าหลังการปลดล็อค กัญชาถูกใช้เพื่อการนันทนาการมากที่สุด รองลงมาถึงจะเป็นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ แต่ยังขาดหลักฐานสนับสนุนการใช้กัญชาเป็นยาตัวแรกในการรักษาผู้ป่วย

นอกจากนี้การใช้กัญชายังส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงกับสังคมมากที่สุด รองลงมาคือสุขภาพของผู้ใช้ TDRI เผยว่าธุรกิจกัญชาที่จดทะเบียนถูกต้องส่วนใหญ่ขาดทุนมากกว่ากำไร และกฎหมายยังมีช่องโหว่ในการกำกับดูแลจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ไปต่อหรือพอแค่นี้

เช่น การลงทะเบียนจดแจ้งต้องการปลูกกัญชาสามารถลงผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ทำให้คนบางกลุ่มเข้าใจว่าปลูกกัญชาได้อย่างเสรี  เช่น ปลูกในบ้านเพื่อการพาณิชย์ได้ และการครอบครองและจำหน่ายช่อดอกกัญชายังไม่มีการดูแลอย่างเข้มงวด

ซึ่งช่อดอกเป็นส่วนที่มีสาร THC ทำให้เข้าใจผิดว่าสามารถใช้กัญชาได้อย่างเสรี ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้นอกจากวัตถุประสงค์ของการปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่นๆ จะบรรลุแล้ว ยังมีผลพวงเชิงลบที่กฎหมายดูแลได้ไม่ครอบคลุมตามมา

กัญชาแบ่งออกได้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Cannabis sativa  Cannabis indica และ Cannabis ruderalis สารออกฤทธิ์สำคัญของกัญชาคือแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) และเทอร์พีน (terpenes)

แคนนาบินอยด์เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลักในการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ประกอบด้วยสาร 2 ชนิดหลักที่รู้จักกัน คือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol)

โดย THC มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการมึนเมา โรคจิตประสาท และมีผลให้เกิดความจำเสื่อมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วน CBD นั้นช่วยลดอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจาก THC ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ และอ่อนเพลียได้ นอกจากนี้ CBD ยังอาจมีผลกับตัวยาหลายชนิด

วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ไปต่อหรือพอแค่นี้

การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จึงต้องการงานวิจัยหลายด้านที่มาสนับสนุนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

ปัจจุบันกัญชาถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย เช่น ใช้รักษาอาการลมชักที่ยารักษายากในเด็ก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ดื้อต่อการรักษา และใช้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เป็นต้น

หรือแม้แต่ตำรับยาไทยยังมีกัญชาเป็นส่วนผสมในหลายตำรับ และอนาคตคาดว่ากัญชาอาจช่วยในการรักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องการผลจากงานวิจัยเพื่อสนับสนุนหลายด้าน

ทั้งการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศไทยและให้ผลผลิตสูง การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการผลิตสารสำคัญเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

การหากรรมวิธีการสกัดและทำให้บริสุทธิ์ของสารสำคัญที่มีต้นทุนต่ำและให้ผลผลิตสูง การทดสอบฤทธิ์เบื้องต้นของสารสำคัญทั้งในระดับเซลล์และสัตว์ทดลอง การศึกษาปริมาณการใช้สารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสมในการรักษาโรคต่าง ๆ และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

และการนำไปใช้ทดสอบจริงระดับคลินิก นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาทัศนคติ ความรู้ และความคิดเห็นต่อกัญชา เพื่อสำรวจระดับความรู้และทัศนคติต่อกัญชา เพื่อหาแนวทางในการเสริมสร้างและยกระดับการรับรู้และความรู้เรื่องกัญชาให้ถูกต้องอีกด้วย

วิจัยกัญชาทางการแพทย์ ไปต่อหรือพอแค่นี้

ดังนั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวง โดยดึง “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น อาจทำให้โอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่จากการศึกษาและวิจัยอันนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากกัญชาได้รอบด้านสะดุดและหายไป และยังสูญเสียเม็ดเงินที่ประเทศได้ลงทุนสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยแล้ว

ฉะนั้นหากในระหว่างการดำเนินการแก้กฎกระทรวงได้นำเรื่องผลประโยชน์ที่น่าจะได้รับจากการวิจัยเข้าร่วมประกอบการพิจารณา และหามาตรการ ระเบียบ และกฎหมาย มาช่วยในการกำกับดูแลให้รัดกุมขึ้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

ที่นอกจากไม่ทิ้งต้นทุนที่สนับสนุนงานวิจัยแล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพได้หลากหลาย ถูกต้อง และแม่นยำมากขึ้น รวมทั้งในอนาคตอาจได้ยารักษาโรค หรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออก เป็นการเพิ่มรายได้และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อีกด้วย.