ผ่าแผน 5 ด่าน อย.ตรวจสกัด “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ผิดกฎหมาย ทะลักเข้าไทย

ผ่าแผน 5 ด่าน อย.ตรวจสกัด “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ผิดกฎหมาย ทะลักเข้าไทย

อย.เข้ม "ผลิตภัณฑ์สุขภาพ" สกัดสินค้าผิดกฎหมาย ตกเกรดไม่ได้มาตรฐาน แยกตรวจสอบอาจเรียกได้ว่า 5 ด่าน  วิธีแตกต่างกันตามรูปแบบนำเข้า ท่ามกลางความกังวลการทะลักเข้าผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะจากจีน

KEY

POINTS

  • หลังอีคอมเมิร์ซบุกตลาดในไทย ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคมีความกังวลการไหลทะลักเข้าของสินค้าจีน และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่การใช้งานมีผลต่อสุขภาพ
  • มูลค่าไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพย้อนหลัง 3 ปี ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท อาหารมากที่สุด  ปี 2567 เกือบ 2 แสนล้านบาท
  • อย.เข้มนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ สกัดสินค้าผิดกฎหมาย ตกเกรดไม่ได้มาตรฐาน แยกตรวจสอบอาจเรียกได้ว่า 5 ด่าน วิธีแตกต่างกันตามรูปแบบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ 

 ท่ามกลางความกังวลของภาคธุรกิจ และผู้บริโภคในการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน และจากต่างประเทศ ทั้งในมุมของการทำร้ายธุรกิจคนไทย และมาตรฐานของสินค้า  ที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหากไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมีการสั่งผ่านอีคอมเมิร์ซ และส่งตรงจากโรงงานผลิตต่างประเทศ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผลิตภัณฑ์สุขภาพ" ที่มีความใกล้ชิดกับการใช้งานของคน ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบก่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยจะมีด่านอาหาร และยาทั่วประเทศ 52 แห่ง อาหารนำเข้าสูงสุด

ข้อมูลการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่รายงานผ่านระบบ National Single Window หรือ NWS ช่วง 3 ปีย้อนหลัง พบว่า 

  • ปี 2565 ผลิตภัณฑ์ 1,487,964 รายการ มูลค่า 4.28 แสนล้านบาท
  • ปี 2566 ผลิตภัณฑ์ 1,693,236 รายการ มูลค่า  4.40 แสนล้านบาท
  • และปี 2567 ผลิตภัณฑ์ 1,307,194 รายการ มูลค่า 3.41 ล้านบาท

สำหรับจำนวนผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทที่นำเข้าปี 2567 ตั้งแต่ต.ค.2566 - มิ.ย.2567แยกเป็น

  • เครื่องมือแพทย์ 527,863 รายการ มูลค่า  57,699 ล้านบาท
  • อาหาร 445,591 รายการ มูลค่า 170,165 ล้านบาท
  • เครื่องสำอาง 298,165 รายการ มูลค่า 27,922 ล้านบาท
  • ยา 32,533 รายการ มูลค่า 82,683 ล้านบาท
  • วัตถุอันตราย 2,653 รายการ มูลค่า 1,886 ล้านบาท  
  • และยาเสพติด 389 รายการ มูลค่า 496 ล้านบาท

แม้จะมีการมุ่งเป้าไปที่สินค้าจีนเป็นสำคัญเพราะกลยุทธ์ที่ชูเรื่อง “ราคาถูก” แต่ในการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะดำเนินการไม่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่อาจจะมีการจัดกลุ่มระดับความเสี่ยง และใช้วิธีการตรวจสอบตามรูปแบบของการนำเข้า

แยกกลุ่ม นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย

กลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตการนำเข้า ซึ่งการตรวจสอบที่ด่านอาหาร และยา แบ่งผู้นำเข้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  • ผู้นำเข้าคุณภาพสูง(GIP Plus)ที่ผ่านการตรวจสอบ และรับรองจาก อย. ปัจจุบันมี 23 บริษัท  โดยได้การอำนวยความสะดวกพิเศษในการนำเข้า หากเป็นอาหารได้รับตรวจปล่อยอัตโนมัติ ผลิตภัณฑ์อื่นได้รับการตรวจปล่อยรวดเร็ว
  •  ผู้นำเข้าปกติคือ ผู้นำเข้าที่ไม่ได้รับGIP Plus  เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบปกติ  มีการสุ่มเก็บตัวอย่าง เปิดตรวจสินค้า ตรวจสอบเอกสารปกติ และระบบe-Q และ e-Tracking
  •  และผู้นำเข้ากลุ่มเสี่ยงคือ ผู้นำเข้าที่มีประวัติถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอย่างเข้มงวด ต้องพิสูจน์ความปลอดภัยของสินค้า  ทั้งนี้  จะมีการกักกันสินค้า เก็บตัวอย่างตรวจ และอายัดสินค้า

กำหนดปริมาณผลิตภัณฑ์สุขภาพ ถือติดตัว

คนไทยเมื่อกลับจากต่างประเทศสามารถซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพถือติดตัวเข้ามาใช้เฉพาะตัวได้ตามปริมาณที่กำนดของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท และไม่ใช่แบบที่ผิดกฎหมาย 

 อย่างเช่น  อาหาร  รวมทุกรายการไม่เกิน 20 กิโลกรัมหรือ 20 ลิตร ห้ามนำเข้าอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ,เครื่องสำอาง ชนิดละไม่เกิน 6 ชิ้น รวมแล้วไม่เกิน 30 ชิ้น ห้ามนำเข้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปริมาณสำหรับใช้ได้ไม่เกิน 90 วัน เป็นต้น  ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ด่านอาหาร และยา ที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งจะมีการสุ่มเรียกตรวจบางคน 

ตรวจพัสดุไปรษณีย์ ส่งเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ

สำหรับกรณีการสั่งจากอีคอมเมิร์ซแล้วมีการส่งสินค้าตรงจากโรงงานในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ทางพัสดุไปรษณีย์  หากมีการระบุเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด่านศุลกากรจะส่งมาให้เจ้าหน้าที่ด่านอาหาร และยาตรวจสอบ ด้วยการเปิดพัสดุดูว่าตรงปกตามที่มีการแจ้งไว้หรือไม่  เช่น แจ้งว่าเป็นเครื่องนวดหน้า หากตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ ก็จะมีการดำเนินตามกฎหมายกับผู้ที่สั่งเข้ามา กรณีของการถือติดตัวเข้ามา และการสั่งผ่านอีคอมเมิร์ซต่างประเทศแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ หากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่เคยใช้ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย

“ไม่แนะนำให้สั่งผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และไม่มีฉลากภาษาไทย เพราะอาจจะได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่รู้แหล่งที่มาการผลิต ไม่สามารถร้องเรียนได้หากเกิดผลกระทบ” ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าว 
 

ผลิตภัณฑ์สุขภาพใช้ถ่ายภาพยนตร์ได้ตามจำเป็น

นอกจากนี้ มีการให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพในกรณีพิเศษที่เริ่มดำเนินการในปี 2567  คือ สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์ เป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power โดยจะพิจารณาอนุญาตภายใน 24 ชั่วโมง แต่ให้นำเข้าได้ในปริมาณที่จำเป็น และต้องส่งกลับหรือทำลายภายใน 30 วันหลังถ่ายทำเสร็จ
ผ่าแผน 5 ด่าน อย.ตรวจสกัด “ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ผิดกฎหมาย ทะลักเข้าไทย

สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพหลังนำเข้า

แม้จะมีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่เมื่อมีการนำเข้ามาโดยเฉพาะเพื่อการจำหน่าย เจ้าหน้าที่ อย.จะมีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์หลังวางตลาดทั้งแบบมีหน้าร้าน และผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ  หากพบความผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่น ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 อย.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร 4 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตหลักสี่ เขตบึงกุ่ม และเขตห้วยขวาง) เข้าตรวจซูเปอร์มาร์เก็ตจีน จำนวน 11 แห่ง พบอาหารไม่มีเลข อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรืออาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 6 (10) มีโทษตามมาตรา 51 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท เป็นต้น

อนึ่ง ผู้บริโภคพบการกระทำผิดแจ้งร้องเรียนได้ที่

สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai 
หรือ E-mail: [email protected]
ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 
หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์