แพทย์เคลียร์ 8 ข้อ "มีโครโมโซมชายXY แต่ลักษณะทางเพศหญิง" โอลิมปิก 2024
โอลิมปิก 2024 กรรมการแพทยสภาเผยมีโครโมโซมชายXY แต่ลักษณะทางเพศหญิง กรณีไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายอย่างสมบูรณ์ เรียก“เคอีส” โอกาสเกิด 1:20,000-99,000 ทารกคลอดมีชีวิต ไม่มีช่องคลอด ไม่พบมดลูกและรังไข่
KEY
POINTS
- กรณีโอลิมปิก 2024 มีนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันมีโครโมโซมชายXY แต่ลักษณะทางเพศหญิง
- กรรมการแพทยสภาระบุกรณีมีโครโมโซมXY แต่ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายอย่างสมบูรณ์ เรียก“เคอีส” องค์การอนามัยโลก(WHO)ระบุรหัสในการวินิจฉัยกลุ่มอาการเหล่านี้ไว้แล้ว
- โอกาสเกิด 1:20,000-99,000 ทารกคลอดมีชีวิต แพทย์วินิจฉัยพบเมื่อถึงวัยมีประจำเดือนแต่ไม่มี เมื่อตรวจไม่มีช่องคลอด ไม่พบมดลูกและรังไข่ เมื่อตรวจจะพบโครโมโซมชาย XY
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงไม่น้อยในการแข่งโอลิมปิก 2024 คือ กรณีนักกีฬามีลักษณะทางเพศเป็นหญิง แต่มีโครโมโซมชาย XY เข้าร่วมแข่งขันในประเภทหญิง ว่าจะส่งผลให้ได้เปรียบคู่แข่งหรือไม่ และมีการพูดถึงภาวะดังกล่าวว่าเป็นIntersex ที่เกิดมามีลักษณะเช่นนี้ตั้งแต่เกิด แตกต่างจากทรานส์เจนเดอร์ที่เกิดจากการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
ล่าสุด ผศ.นพ.พสนธิ์ จงตระกูล กรรมการแพทยสภา ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “งงไหม มีโครโมโซมเป็นชายคือ XY แต่ลักษณะทางเพศเป็นหญิง” โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน 8 ประเด็น
1.ทำไมมีโครโมโซมเป็นชายคือ XY แต่มีลักษณะทางเพศเป็นหญิงไปได้
บุคคลเหล่านี้มีโครโมโซม Y จึงมีอัณฑะและมีการสร้างฮอร์โมนเพศชายคือแอนโดรเจน แต่เซลล์ต่าง ๆ ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนดังกล่าว (androgen insensitivity) เนื่องจากมีความผิดปกติแต่กำเนิดของยีนบนโครโมโซม Y ทำให้เนื้อเยื่อไม่พัฒนาไปเป็นองคชาติและถุงอัณฑะ แต่กลับพัฒนาไปเป็นคลิทอริสและแคมใหญ่กับแคมเล็กแทน บุคคลเหล่านี้จึงมีลักษณะทางเพศเป็นหญิงจากลักษณะของอวัยวะเพศภายนอก และจะถูกเลี้ยงเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เกิด
2.อัณฑะของของบุคคลเหล่านี้อยู่ที่ใดในร่างกาย
เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่มีถุงอัณฑะ อัณฑะจึงค้างอยู่ในช่องท้องในช่องทางผ่านบริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นช่องทางที่อัณฑะของทารกเพศชายปกติใช้เป็นเส้นทางเดินไปจนถึงถุงอัณฑะก่อนการคลอด หลังคลอดเล็กน้อย หรือภายในไม่กี่เดือนหลังคลอด แต่ประมาณร้อยละ 3 ของทารกเพศชายปกติที่อัณฑะจะค้างอยู่ตลอดไปในบริเวณดังกล่าวซึ่งอาจค้างอยู่ข้างเดียวหรือค้างทั้งสองข้าง กุมารแพทย์มักตรวจพบได้โดยเร็วในช่วงของการตรวจร่างกายเด็กขณะรับวัคซีนตามอายุ
3.การไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายแต่กำเนิดมีกี่รูปแบบ
การไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายมีทั้งแบบไม่ตอบสนองอย่างสมบูรณ์ (complete androgen insensitivity syndrome :CAIS หรือเคอีส*) และการตอบสนองเพียงบางส่วน กับการตอบสนองที่ลดลงเพียงเล็กน้อย
4.การไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายแต่กำเนิดเป็นเรื่องใหม่หรือมีมานานแล้ว
ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ องค์การอนามัยโลกระบุรหัสในการวินิจฉัยกลุ่มอาการเหล่านี้ไว้แล้วภายใต้ระบบ ICD-10 คือรหัส E34.5 นอกจากนั้นยังมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ ที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเคอีส เพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมเกี่ยวกับพวกเขา เช่น Hanne Gaby Odiele ซึ่งเป็นชาวเบลเยียมและเป็นนางแบบแฟชั่น ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเคอีส ในปีค.ศ. 2017 เมื่อมีอายุได้ 29 ปี และมีบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ถูกวินิจฉัยมาก่อนหน้านี้เป็นจำนวนไม่น้อยแต่มักไม่เปิดเผยตัว
5.บุคคลเหล่านี้มีลักษณะทางเพศเป็นหญิงครบเหมือนผู้หญิงที่มีโครโมโซม XX ไหม
บุคคลในกลุ่มเคอีส จะไม่มีช่องคลอดเพียงแต่มีโพรงเล็ก ๆ เป็นกระเปาะ ไม่มีมดลูก และไม่มีรังไข่ มีแต่คลิทอริส แคมใหญ่และแคมเล็ก แต่เมื่อถึงวัยแรกรุ่นจะมีเต้านมเหมือนผู้หญิงทั่วไปจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงคือเอสโตรเจน สร้างผ่านการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนจากอัณฑะไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิงด้วยเอนไซม์อะโรมาเตส
ซึ่งเป็นเอนไซน์ที่พบได้ทั้งในอัณฑะ เซลล์ไขมันทั่วร่างกาย และสมอง เป็นต้น บุคคลเหล่านี้จะมีสะโพกผาย ขนตามตัวและใบหน้าน้อย มีขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศน้อยหรือไม่มีเลย ผิวเนียนกว่าผู้ชายทั่วไป แต่มักจะสูงและแขน ขา ยาวกว่าผู้หญิงทั่วไป และอาจมีกล้ามเนื้อที่แลดูกำยำเหมือนนักกีฬา ดูภาพของบุคคลผู้หนึ่งในกลุ่มอาการนี้ได้จาก
6.มีโอกาสพบเคอีสได้มากน้อยเพียงใด
จากรายงานในต่างประเทศ พบได้ระหว่าง 1:20,000 ถึง 1:99,000 ทารกคลอดมีชีวิต เช่นในประเทศที่มีเด็กเกิดประมาณ 5 แสนคนต่อปี อาจพบเด็กที่เป็นเคอีสได้ระหว่าง 5-25 คน
7.แพทย์วินิจฉัยการเป็นเคอีสได้อย่างไร
เมื่อผู้ปกครองสงสัยในความผิดปกติของบุตรสาวในแต่ละช่วงอายุ เช่น การไม่มีประจำเดือนเมื่อถึงวัย แพทย์จะตรวจพบว่าไม่มีช่องคลอด เมื่อตรวจเลือดจะพบระดับฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติ เมื่อตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงจะไม่พบมดลูกและรังไข่ แต่พบว่ามีอัณฑะค้างอยู่ในช่องทางผ่านบริเวณขาหนีบ และเมื่อตรวจโครโมโซมจะพบว่าเป็น XY เป็นต้น
8.แพทย์ดูแลบุคคลในกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง
แพทย์จะช่วยดูแลด้านจิตใจและสังคม ให้ฮอร์โมนเพศหญิงเสริม ตัดอัณฑะที่ค้างอยู่ในช่องท้องออกไปเนื่องจากหากทิ้งไว้อาจกลายเป็นมะเร็งได้ ในระยะยาวติดตามความหนาแน่นของมวลกระดูก ตรวจติดตามการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอันเนื่องมาจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ยกเว้นไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยตนเอง