อย.เล็ง "ปรับลดปริมาณ - จำกัดความถี่" นำเข้า“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ”ออนไลน์ ติดตัว
อย.พิจารณาปรับลดปริมาณ-จำกัดความถี่ นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้เฉพาะตัว ผ่านออนไลน์ -ถือติดติว โฟกัสสินค้าที่มียอดสูง สกัดแอบใช้เป็นช่องทางนำมาจำหน่ายต่อ
KEY
POINTS
- 4 หน่วยงาน เร่งผลักดันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในการป้องกันสินค้านำเข้าผิดกฎหมาย ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่
- อย.จะพิจารณาปรับลดปริมาณ และจำกัดความถี่ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้เฉพาะตัว ที่นำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และถือติดตัว
- ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารขายซูเปอร์มาร์เก็ตจีนในไทย ขออนุญาตนำเข้าเพื่อจำหน่าย ต้องแสดงฉลากภาษาไทย มีส่วนผสมที่กฎหมายไทยอนุญาต
จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการเคร่งครัดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์นัดหมายกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องรวม 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และกระทรวงการคลัง เพื่อหารือกันในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับเรื่องสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดสินค้าไทยให้ครอบคลุมในทุกด้านๆนั้น
4 หน่วยงานเร่งมาตรการ ป้องกันสินค้านำเข้าผิดกฎหมาย
ล่าสุด 8 ส.ค.2567 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีการประชุมร่วมกับผู้แทนจากกรมศุลกากร ,บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัทขนส่งเอกชน เร่งผลักดันมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในการป้องกันสินค้านำเข้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อยกระดับมาตรการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในท้องตลาด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“จะมีการเฝ้าระวังผู้นำเข้าที่มีประวัติการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาดที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบผู้นำเข้าหรือสินค้าที่มีความเสี่ยงได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยจะดำเนินการเปิดตรวจตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวด ควบคุมการจัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้องก่อนการจำหน่าย”ภก.เลิศชายกล่าว
เล็งลดปริมาณ-จำกัดความถี่ นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพใช้เอง
ในส่วนของมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และถือติดตัว อย.จะพิจารณาปรับลดปริมาณ และจำกัดความถี่ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้เฉพาะตัว ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าร่วมกับไปรษณีย์ไทย และกรมศุลกากร สำหรับการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้เฉพาะตัว ผู้นำเข้าต้องยื่นใบรับรองแพทย์ต้นฉบับที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันที่ออกใบรับรองแพทย์ ประกอบการนำเข้าด้วย
“วางกรอบไว้แล้วว่าเป้าอาจจะมีการปรับลดปริมาณที่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นการใช้เฉพาะตัว รวมถึง จำนวนความถี่ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย อย่างเช่น ลิปสติกนำเข้ามา 6 แท่ง ใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะใช้หมด แล้วไปนำเข้ารอบใหม่มาใช้เฉพาะตัวอีกครั้ง ไม่ใช่ว่าอีก 2 วันแล้วไปนำเข้ามาใหม่”ภก.เลิศชายกล่าว
โฟกัสผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้าปริมาณมาก
ในส่วนของการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้เฉพาะตัว จะต้องมาดูข้อมูลว่า ปัจจุบันมีสินค้าอะไรที่เป็นการนำเข้ามาบ้าง และเป็นช่องทางที่อาจจะส่งผลกระทบหรือไม่ เพื่อนำมาพิจารณาปรับเกณฑ์ แต่ตอนนี้จะไปปรับเลยไม่ได้ กำลังโฟกัสในผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามาปริมาณมาก มีมูลค่าที่จะจำหน่ายต่อ
อย่างเช่น ลิปสติกที่เป็นเครื่องสำอาง ให้นำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัวได้คนละ 6 ชิ้น แต่ลิปสติกสีส้มนับเป็น 1 ชนิดนำเข้าได้ 6 แท่ง สีแดงเป็นอีก 1 ชนิดนำเข้าไปได้อีก 6 แท่ง หรืออื่นๆก็ได้อีก 6 แท่ง แล้วแจ้งว่าเป็นการถือติดตัว เจ้าหน้าที่ก็ไปต่อไม่ได้ ถือเป็นช่องว่าง ที่การออกกฎในมิติที่มองว่าคนไม่ได้เอาเปรียบสังคม แต่อาจจะมีบางคนใช้ช่องทางแบบนี้ในการนำเข้าติดตัวมาเพื่อจำหน่าย ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณา
สกัดผลิตภัณฑ์สุขภาพ สั่งออนไลน์-ถือติดตัวมาจำหน่ายต่อ
“การที่อย.อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลเพื่อนำมาพิจารณาปรับลดปริมาณที่อนุญาตให้นำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการถือติดตัว รวมถึง ความถี่ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ เป็นการป้องกันการลักลอบใช้ช่องทางเหล่านี้ นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเพื่อจำหน่ายต่อในประเทศ เพราะถ้าเกิดนำเข้ามาช่องทางนี้แล้วเอาไปโพสต์หรือวางจำหน่ายราคาถูก ก็เป็นอันตรายต่อผู้ซื้อ และการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายก็เป็นการหวังประโยชน์ จึงต้องส่งมอบของที่มีความปลอดภัย”ภก.เลิศชายกล่าว
หารือสถานทูต พัฒนาสินค้าคุณภาพส่งเข้าไทย
นอกจากนี้ อย. จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กองด่านอาหารและยาเป็นแกนในการประสานความร่วมมือ และเน้นย้ำถึงมาตรการให้ทั้ง 52 ด่าน ทั่วประเทศถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
อย ได้หารือกับสถานทูตเพื่อพัฒนาให้สินค้าที่นำส่งมาประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานตามที่ประเทศไทยกำหนด โดยยึดความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก และมุ่งเน้นความเสมอภาคในการประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้า
ซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ขออนุญาตนำเข้าเพื่อจำหน่าย
ภก.เลิศชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ที่มีการจำหน่ายสินค้าจีนนั้น ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เป็นการขออนุญาตนำเข้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งอย.มีการตรวจสอบเข้มข้นมาตลอดโดยมีการให้ข้อมูลและอธิบายกระบวนการดำเนินการที่ถูกต้อง ณ วันนี้ให้ความร่วมมือดี แต่ด้วยช่องว่างทางการสื่อสารภาษาไทย อาจจะทำให้การติดฉลากภาษาไทยที่ผลิตภัณฑ์ไม่ครบ ไม่ถูกต้องหรือตกหล่น เป็นหน้าที่ที่อย.จะต้องเข้าไปตรวจในเรื่องมีการติดฉลากภาษาไทยหรือไม่ หรือมีการสวมฉลากหรือไม่ หากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
รองเลขาฯอย. กล่าวด้วยว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพนำเข้าที่ขายในประเทศไทยที่เป็นอาหาร แล้วขายผ่านคนกลาง คือ ร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ซึ่งอย.จะเข้าไปการันตีให้ว่าของที่ขายผ่านช่องทางนี้มีคุณภาพ มาตรฐาน โดยถ้าเป็นสถานที่ผลิตต้องมีการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์เมื่อออกมาต้องมีการตรวจคุณภาพ ฉลากต้องสื่อสารภาษาไทยให้ครบถ้วน มีวันผลิต วันหมดอายุ มีเครื่องหมายอย. ถ้าไม่มีตามนี้ก็ใช้ไม่ได้
แต่ถ้านำเข้าก็แบบเดียวกันไม่ว่าจะนำเข้าจากประเทศไหน ก็ต้องมายื่นขออนุญาตกับอย.แล้วแสดงว่าที่จะนำเข้านั้น ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ตรวตามกฎหมายไทยหรือไม่ หากตรงก็อนุญาต ให้ไปทำฉลากภาษาไทย เมื่อนำเข้าด่านอาหารและยาก็ตรวจสอบว่าตรงหรือไม่ ตรงก็ปล่อยของ