“ฝีดาษลิง” ไทยเสี่ยงต่ำ แต่เจอผู้ป่วย "เคลด 1 บี" แน่นอน

 “ฝีดาษลิง” ไทยเสี่ยงต่ำ แต่เจอผู้ป่วย "เคลด 1 บี" แน่นอน

กรมควบคุมโรคยกระดับเฝ้าระวังฝีดาษลิง เข้มคนเข้าประเทศจากพื้นที่เสี่ยง ล่าสุดเจอผู้ป่วยสงสัยสายพันธุ์ “เคลด 1 บี” รายแรก รอยืนยันผล 100 % คาด 23 ส.ค.67 นี้ ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 คนแล้ว ประเมินความเสี่ยงไทยต่ำ แต่จะเจอผู้ป่วยแน่นอน เชื่อจะไม่ระบาดแบบโควิด

ฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร หรือเอ็มพอกซ์(Mpox) ณ ตอนนี้มี  2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ สายพันธุ์ clade 1 (เคลด1) หรือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก เป็นหลัก  มีการปรับตัวรุนแรงขึ้น เรียกว่าสายพันธุ์ clade IB (เคลด1บี)  อัตราการป่วยตายสูง แต่ยังไม่พบในประเทศไทย 

และสายพันธุ์ clade 2 (เคลด2)  หรือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลาง   ณ ตอนนี้ประเทศไทยพบเพียงสายพันธุ์นี้ ซึ่งเมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา  องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศให้ฝีดาษลิง เคลด 1บี เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

 “อัตราการเสียชีวิต 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกัน  โดยฝีดาษวานร เคลด 2 ที่ไทยเจออยู่ที่ 1.3% ส่วนฝีดาษวานร เคลดวันบี ประมาณ 3-5% ที่องค์การอนามัยโลกเป็นห่วงเพราะพบติดในเด็ก และเสียชีวิต”นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าว

ยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ฝีดาษลิง 

สำหรับประเทศไทย หลังองค์การอนามัยโลกประกาศ กรมควบคุมโรค มอบหมายกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกักกันโรค เพิ่มมาตรการ และเข้มงวดการตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด ได้แก่

1.ตรวจสอบการลงทะเบียน Health Declaration เพื่อการควบคุมโรค ซึ่งต้องมีที่อยู่ การเดินทาง และสถานที่ติดต่อระหว่างอยู่ในประเทศไทย 

2. ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง (Health Beware Monitor) 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บริเวณด่านคัดกรอง รวมทั้ง QR code สำหรับการรายงานอาการเจ็บป่วยของตนเอง  

3.วัดอุณหภูมิร่างกาย

4.หากพบผู้เดินทางมีผื่น หรืออาการเข้าได้กับ โรคฝีดาษลิง จะทำการแยกไว้ในห้องแยกโรคทันที และเก็บตัวอย่างจากผื่น และจากคอหอย ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธี RT-PCR ณ ห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคฯ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสามารถรอผลตรวจในห้องแยก 70 นาที

 5. หากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ เป็นโรคฝีดาษลิง จะส่งรับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร

และ 6. กรณีพบผู้เดินทางมีผื่น ชัดเจนที่ด่าน หรือสนามบิน ให้พามาตรวจสอบอาการที่ ด่านควบคุมโรคติดต่อฯ ได้ทันที

พบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษลิง เคลด 1บี

ล่าสุด เมื่อวานนี้(21 ส.ค.67) ที่กรมควบคุมโรค นพ.ธงชัย แถลงข่าวการพบผู้ป่วยสงสัยป่วยโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เคลด 1บี (Clade 1B) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และไม่เคยพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทยมาก่อนว่า  ณ  วันที่ 21 ส.ค.2567 ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิง เคลดวันบี 100 %  ซึ่งผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการคาดว่าจะทราบผลในวันที่ 23 ส.ค.67 นี้ 

อาการล่าสุดของผู้ป่วยดี ยังไม่รุนแรง แม้ผลยังไม่ยืนยัน 100 % ว่าเป็นฝีดาษลิง เคลด1บี แต่ทีมสอบสวนโรคได้มีระบบในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คนนั่งเครื่องบินเดียวกัน 2 แถวใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยรายนี้ มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว รวม 43 คน ทั้งไทย และต่างชาติยังไม่มีอาการป่วย ติดตามคนสัมผัสประมาณ 21 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่แจ้งให้ทราบว่าหากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งเจ้าหน้าที่

ฝีดาษลิงไทยเสี่ยงต่ำ แต่เจอเคลด1 บี แน่นอน

นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า  ก่อนหน้านี้กรมได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังฝีดาษลิง เคลด 1บีไปแล้ว โดยการเข้มตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศพื้นที่ระบาด ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ภายในสนามบินระหว่างประเทศทุกแห่ง

 “ฝีดาษลิง” ไทยเสี่ยงต่ำ แต่เจอผู้ป่วย \"เคลด 1 บี\" แน่นอน

ซึ่งทุกคนที่เดินทางมาจาก 42 ประเทศที่ไทยกำหนดให้เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง จะต้องรายงาน และแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ ที่ด่านอยู่แล้ว วัดไข้ ดูอาการ ซักถามประวัติ และเริ่มประสานสายการบินในการตรวจสอบ คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทยโดยมีการเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศอื่นก่อน ซึ่งพื้นที่ระบาดของฝีดาษวานร เคลดวันบี ก็อยู่ในกลุ่ม 42 ประเทศนี้ด้วย 

สถานการณ์ฝีดาษลิงในประเทศไทยตอนนี้  กรมยังไม่ต้องยกระดับมาตรการเพิ่มเติมเพียงแต่ให้เข้มมาตรการมากขึ้น  และยังไม่เปิดระบบศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข(อีโอซี)ระดับกรมควบคุมโรค จะยกระดับเมื่อมีการพบว่ามีการติดเชื้อเป็นรุ่น 2 หรือพบผู้ป่วยจากการติดภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยจัดให้ฝีดาษวานรเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกับอีก 56 โรค

ประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยขณะนี้ต่ำมาก แต่ไทยจะพบผู้ป่วยฝีดาษวานร เคลดวันบีแน่นอน แต่ที่จะเข้ามาเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะโรคนี้มากับการเดินทางของคน  เหมือนกับสายพันธุ์เคลด 2 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อปี 2565 แล้วต่อมาก็พบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้ในไทย 

" เชื่อว่าฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิงไม่มีทางระบาดเหมือนโควิด เพราะตัวเชื้อการติดไม่ได้ง่าย วิธีการติดจะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมาก แตะผิวหนัง แตะตัว ขนาดน้ำลายก็จะต้องใกล้ และมีปริมาณพอสมควร” นพ.ธงชัย กล่าว  

วิธีการป้องกันฝีดาษลิง

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือเริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตามร่างกายเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น

การป้องกันโรคฝีดาษลิง ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ

2.หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

และ3.หากผู้ที่มีอาการสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์