อัปเดต "ผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง เคลดวันบี"รายแรกไทย ติดตาม 43 คน สัมผัสใกล้ชิด

อัปเดต "ผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง เคลดวันบี"รายแรกไทย ติดตาม 43 คน สัมผัสใกล้ชิด

กรมควบคุมโรคแถลงไทยพบผู้ป่วยสงสัย “ฝีดาษลิง เคลดวันบี” รายแรก รอยืนยันผลสายพันธุ์100 % คาด 23 ส.ค.นี้ เป็นชายชาวยุโรป 66 ปี เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเข้าไทย 14 ส.ค.ก่อน 15 ส.ค.มีอาการป่วย ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 คน ไทยเสี่ยงต่ำ แต่เจอแน่นอน เชื่อจะไม่ระบาดเหมือนโควิด

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 ที่กรมควบคุมโรค นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวการพบผู้ป่วยสงสัยป่วยโรคเอ็มพอกซ์ หรือ ฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เคลดวันบี (Clade 1B) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และไม่เคยพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทยมาก่อนว่า  ณ  วันที่ 21 ส.ค.2567 ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร เคลดวันบี 100 %  ซึ่งผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการจาก 4 แห่ง คาดว่าจะทราบผลในวันที่ 23 ส.ค.นี้ 

ผู้ป่วยต้องสงสัยรายนี้ เป็นชายชายยุโรป อายุ 66 ปี  เดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของฝีดาษวานร เคลดวันบี  มาต่อเครื่องที่ตะวันออกกลางก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 18.00 น. มีบ้านพักในประเทศไทย

หลังจากนั้นวันที่ 15 ส.ค.เช้า ผู้ป่วยเริ่มมีไข้  มีตุ่มขึ้นมาเล็กน้อย เลยไปตรวจที่โรงพยาบาล ซักประวัติสงสัยเข้าได้กับ ฝีดาษลิง จึงตรวจหาสายพันธุ์เคลด 2 แต่ผลเป็นลบ เมื่อตรวจสายพันธุ์เคลดวันบี ปรากฎให้ผลไม่ชัดเจน จึงมีการส่งตรวจยืนยัน โดยวิธี Rt-PCRอีกครั้งเพื่อยืนยันผล ถ้ายืนยันก็ถือว่าเป็นผู้ป่วยฝีดาษวานร เคลดวันบีรายแรกที่ประเทศไทยตรวจเจอ

อัปเดต \"ผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง เคลดวันบี\"รายแรกไทย ติดตาม 43 คน สัมผัสใกล้ชิด

ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 คน

ผู้ป่วยต้องสงสัยรายนี้เชื่อได้ว่าเป็นฝีดาษลิงแน่นอน และมาจากประเทศที่มีการระบาดของเคลดวันบี อาการล่าสุดดี ยังไม่รุนแรง แม้ผลยังไม่ยืนยัน 100 % ว่าเป็นฝีดาษวานร เคลดวันบี แต่ทีมสอบสวนโรคได้มีระบบในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คนนั่งเครื่องบินเดียวกัน 2 แถวใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยรายนี้ มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว รวม 43 คน ทั้งไทยและต่างชาติยังไม่มีอาการป่วย ติดตามคนสัมผัสประมาณ 21 วัน แต่ไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่แจ้งให้ทราบว่าหากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งเจ้าหน้าที่

“อัตราการเสียชีวิต 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกัน  โดยฝีดาษวานร เคลด 2 ที่ไทยเจออยู่ที่ 1.3% ส่วนฝีดาษวานร เคลดวันบี ประมาณ 3-5% ที่องค์การอนามัยโลกเป็นห่วงเพราะพบติดในเด็กและเสียชีวิต”นพ.ธงชัย กล่าว

ไม่มีทางระบาดใหญ่เหมือนโควิด

นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า  ก่อนหน้านี้กรมได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร เคลดวันบีไปแล้ว โดยการเข้มตรวคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศพื้นที่ระบาด ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ภายในสนามบินระหว่างประเทศทุกแห่ง ซึ่งทุกคนที่เดินทางมาจาก 42 ประเทศที่ไทยกำหนดให้เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง จะต้องรายงานและแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านอยู่แล้ว วัดไข้ ดูอาการ ซักถามประวัติ และเริ่มประสานสายการบินในการตรวจสอบ คัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศไทยโดยมีการเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศอื่นก่อน ซึ่งพื้นที่ระบาดของฝีดาษวานร เคลดวันบี ก็อยู่ในกลุ่ม 42 ประเทศนี้ด้วย 

สถานการณ์ฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานรในประเทศไทยตอนนี้  กรมยังไม่ต้องยกระดับมาตรการเพิ่มเติมเพียงแต่ให้เข้มมาตรการมากขึ้น และยังไม่เปิดระบบศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข(อีโอซี)ระดับกรมควบคุมโรค จะยกระดับเมื่อมีการพบว่ามีการติดเชื้อเป็นรุ่น 2 หรือพบผู้ป่วยจากการติดภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยจัดให้ฝีดาษวานรเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกับอีก 56 โรค

“ประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยขณะนี้ต่ำมาก แต่ไทยจะพบผู้ป่วยฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร เคลดวันบีแน่นอน แต่ที่จะเข้ามาเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะโรคนี้มากับการเดินทางของคน  เหมือนกับสายพันธ์เคลด 2 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อปี 2565 แล้วต่อมาก็พบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้ในไทย  ทว่า เชื่อว่าฝีดาษวานรไม่มีทางระบาดเหมือนโควิด เพราะตัวเชื้อการติดไม่ได้ง่าย วิธีการติดจะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมาก แตะผิวหนัง แตะตัว ขนาดน้ำลายก็จะต้องใกล้และมีปริมาณพอสมควร”นพ.ธงชัยกล่าว   

 

วิธีการป้องกันฝีดาษลิง

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือเริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตามร่างกายเป็นตุ่มน้ำใส หรือ ตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น

กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง รวมถึงโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำอื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจมีโอกาสพบผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่มีอาการสงสัยหรือแพร่โรคได้ จึงขอเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษวานร ดังนี้

 1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด และทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ

2.หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

3.หากผู้ที่มีอาการสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค