"ฝีดาษลิง" 8 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง วัคซีนฝีดาษลิงยังแนะนำแค่ 2 กลุ่ม

"ฝีดาษลิง" 8 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง วัคซีนฝีดาษลิงยังแนะนำแค่ 2 กลุ่ม

ฝีดาษลิง กรมควบคุมโรคเผย 8 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ส่วนวัคซีนฝีดาษลิงยังไม่มีผู้ผลิตขึ้นทะเบียนนำเข้ากับอย. ย้ำเป็นวัคซีนไข้ฝีดาษ คนไทยเกิดก่อนปี 23 ได้รับแล้ว  ตอนนี้แนะนำให้รับแค่ 2 กลุ่ม

จากที่ประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยสงสัยป่วยโรคเอ็มพอกซ์ หรือ ฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เคลด 1บี (Clade 1B) เป็นรายแรก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในปี 2567  และไม่เคยพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทยมาก่อน  โดยอยู่ระหว่างการส่งทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน คาดว่าจะทราบผลในวันที่ 23 ส.ค.นี้ และได้มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดรวม 43 คนแล้วนั้น 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนฝีดาษลิงหรือ ฝีดาษวานร หรือเอ็มพอกซ์(Mpox) เป็นวัคซีนไข้ฝีดาษ Small pox แต่เป็นตระกูลเดียวกันกับ Monkey pox  ซึ่งคนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับวัคซีนไข้ฝีดาษ หรือการปลูกฝีแล้ว จะสามารถป้องกันความรุนแรงของฝีดาษวานรได้ 

ไทยยังไม่มีขึ้นทะเบียนนำเข้า วัคซีนฝีดาษลิง

ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษลิงไม่ได้มีการจำหน่ายในประเทศไทย เพราะต้องขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตในหลายประเทศ เช่น สวีเดน ญี่ปุ่น  นอร์เวย์ แต่ยังไม่มีการมาขออนุญาตนำเข้าในประเทศไทย ส่วนที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ให้บริการฉีดนั้น เป็นการนำเข้ามาเพื่อการวิจัย อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องใช้และเกิดการระบาดขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถสั่งซื้อได้เลย เพื่อใช้ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน

“การจะแพร่เชื้อได้ต้องมีอาการ มีไข้ เริ่มมีต่อมน้ำเหลืองโต เริ่มมีแผล จะเป็นช่วงแพร่เชื้อ แต่ถ้ายังไม่มีอาการอะไร แม้ว่าจะมีเชื้ออยู่ในตัว ไม่สามารถระบาดได้  โดยเชื้อจะมีระยะฟักตัว 5- 21 วัน”นพ.ธงชัยกล่าว 


นพ.ธงชัย กล่าวด้วยว่า จากรายงานในต่างประเทศอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยป่วยฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง เคลด 1บี 3-5 %  โดยพบในกลุ่มเด็กจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปตามที่เชื้อตัวนี้จะทำให้เกิดความรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง ที่มีภูมิต้านทานต่ำ  ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของสายพันธุ์นี้จำนวนมากในประเทศแถบแอฟริกา องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 

วัคซีนฝีดาษลิง ยังแนะนำให้รับใน 2 กลุ่ม

ด้านนพ.อภิชาติ วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คำแนะนำในการรับวัคซีนฝีดาษลิง ณ ขณะนี้ กรมแนะนำให้ฉีดอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มHealthCare Worker เช่น พยาบาลที่ต้องทำงานในพื้นที่ระบาด และ2.กลุ่มที่มีการสัมผัสเชื้อแล้ว เช่น คนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วพบว่ามีเม็ดขึ้น ซึ่งยังสามารถรับวัคซีนได้ทันภายใน 4 วัน ภูมิคุ้มกันขึ้นจะป้องกันการติดเชื้อได้อาจจะไม่ถึง 100 %  แต่ถ้ารับภายในวันที่5-14 จะป้องกันความรุนแรงได้  โดยจะต้องรับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน   

ฝีดาษลิง 8 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ระบุถึง 8 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง หากติดเชื้อฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร หรือเอ็มพอกซ์(Mpox) ได้แก่

1.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีเซลล์เม็ดเลือดชนิดซีดี 4น้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร(ลบ.มม.)

2.ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด

3.ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะต่างๆ

4.ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ

5.ผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็ก

6.ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก อวัยวะต่างๆ

7.เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี

8.ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยสาร/ยา/รังสี ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง 

ฝีดาษลิง อาการ 2 ช่วง

อาการของผู้ป่วยฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

  • ระยะแรก (วันที่ 0-5) จะมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ

ไม่มีแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่มีไข้อาจมีการแพร่เชื้อผ่านระยะนี้ได้เล็กน้อย

  • ระยะออกผื่น (1-3 วันหลังมีไข้) เป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มาก โดยผื่นจะเริ่มจากบริเวณ

ใบหน้า จากนั้นจึงกระจายไปตามแขนขา ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายอาจมีผื่นบริเวณเยื่อบุช่องปาก

อวัยวะเพศ และเยื่อบุตาได้โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากผื่นแดงราบ เปลี่ยนเป็นผื่นแดงนูน

ตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง ตามลำดับ จากนั้นจะตกสะเก็ดและหลุดลอกออก ซึ่งผู้ป่วยจะยัง

สามารถแพร่เชื้อได้จนกว่าสะเก็ดจนหลุดลอกออกหมด ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์