สธ.ยกระดับช่วยน้ำท่วมทุกจังหวัด ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินดูแลผู้ป่วยติดเตียง
“สมศักดิ์” สั่งสธ.ยกระดับ เพิ่มความเข้มข้นช่วยน้ำท่วม สสจ.ทุกจังหวัดเตรียมรับมือ-ช่วยเหลือประชาชน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉิช่วยผู้ป่วยติดเตียง หลังน้ำลด-เฝ้าระวังความเสี่ยง 5 กลุ่มโรค
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด และมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบอีกหลายจังหวัด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา มีการแจ้งเตือนฝนตกหนักมาก 26-28 ส.ค.67 ทั้งจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น และชัยภูมิ
ได้เพิ่มระดับความเข้มข้น ให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในทุกจังหวัด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และการสาธารณสุข และดำเนินการซ้อมแผนตอบโต้เหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะต้องสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ผลกระทบ และความเสียหายของเหตุการณ์ ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตอบโต้เหตุการณ์”นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากเหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่เป็นภาวะฉุกเฉิน ทางสาธารณสุข ต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุข ต้องพิจารณาจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัด เพื่อตอบโต้เหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ประกอบด้วย
1.ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์สำหรับให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน
2.ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วสำหรับดูแลประชาชนที่เดินทางไปโรงพยาบาลไม่สะดวกหรือถูกตัดขาดจากอุทกภัย ผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งสถานที่อพยพของผู้ประสบภัยอุทกภัย
3.ทีมปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมสำหรับการดูแลด้านสุขาภิบาล สำหรับจัดการด้านสุขาภิบาล และสิ่งแวดล้อม
4.ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต สำหรับดูแลสุขภาพจิต และ 5.ทีมทรัพยากรและกำลังบำรุงสำหรับจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์แก่ประชาชน และหน่วยบริการในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เป็นต้น
ส่วนหลังผ่านพ้นเหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม กระทรวงสาธารณสุข ก็จะต้องดำเนินการฟื้นฟูทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมการ และปฎิบัติอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ทั้งการปรับปรุงสุขาภิบาล และสิ่งแวดล้อม การเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านโรคและภัยสุขภาพ 5 กลุ่มโรค
1. กลุ่มโรคปนเปื้อนอาหารและน้ำ
2. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
3. กลุ่มโรคนำโดยแมลงและสัตว์นำโรค
4. กลุ่มโรคติดต่ออื่น ๆ
5. กลุ่มการบาดเจ็บ พร้อมต้องมีการประเมิน ปรับปรุงสถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบ และศึกษาผลกระทบจากอุทกภัยที่มีต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการอุทกภัยในอนาคต เป็นต้น