สปสช. จัดงบ 1,514 ล้าน จ่าย “ค่าบริการผู้ป่วยใน” ให้รพ.
"หมอจเด็จ"เผย สปสช. เทงบ 1,514 ล้านบาท จ่ายชดเชย “ค่าบริการผู้ป่วยใน” ให้ รพ.ระบบบัตรทองภายในสิ้นเดือน ส.ค. นี้ จากข้อมูลเบิกจ่ายบริการตั้งแต่ 1 - 15 ส.ค. ที่ผ่านมา พร้อมนำงบคงเหลือรวมกับงบผู้ป่วยใน และงบที่ได้จากการปรับเกลี่ยงบประมาณ เตรียมเพิ่มเติมในเดือน ก.ย. นี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา สปสช. ได้มีประชุมหารือ ข้อเสนอบริหารการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน ปีงบประมาณ 2567 การพิจารณาครั้งนี้ ยึดหลักการตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 ที่รับทราบสถานการณ์กรณีผลงานบริการมากกว่าเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณ ปีงบประมาณ 2567
และได้เห็นชอบการปรับอัตราการจ่ายกรณีการให้บริการในเขตพื้นที่ ตามประมาณผลงานบริการที่จะเกิดขึ้น ในปีงบประมาณ 2567 ภายใต้วงเงิน Global budget ระดับเขตพื้นที่ ตั้งแต่ข้อมูลที่ส่งขอรับค่าใช้จ่ายในเดือนมิ.ย. 2567 ในอัตรา 7,000 บาท/adjRW และเห็นชอบในหลักการให้ สปสช. ใช้เงินกันระดับประเทศกรณีมีงบประมาณเหลือหลังจ่ายเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบ DRG ฉบับที่ 6 สำหรับเขตที่มีวงเงิน Global budget ไม่เพียงพอจ่ายในอัตรา 8,350 บาท/adjRW
ประกอบกับมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2567 วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ในการเห็นชอบการปรับเกลี่ยงบประมาณทุกรายการนำไปชดเชยรายการที่ติดลบ ยกเว้นรายการที่เป็นปลายปิด เพื่อให้งบประมาณในรายการต่างๆ ได้ใช้หมดในเวลาที่ใกล้เคียงกันและไม่ให้มีเงินเหลือค้าง ในกรณีงบประมาณยังไม่เพียงพอ ให้ของบกลางเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ 2567
สำหรับงบบริการผู้ป่วยใน ปีงบประมาณ 2567 สปสช. ได้กำหนดงบประมาณตั้งต้นจำนวน 40,269.39 ล้านบาท ที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปแล้ว 39,488.55 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลืองบประมาณ 780 ล้านบาท สำหรับการจ่ายในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. 2567
อย่างไรก็ตาม จากเงินคงเหลือของงบประมาณที่ได้กันไว้ เพื่อเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยน DRG ฉบับที่ 6 สำหรับเขตที่มีวงเงิน Global budget ไม่เพียงพอ จำนวน 1,514 ล้านบาท จะเป็นงบที่นำมาเพิ่มเติมเพื่อจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในให้กับโรงพยาบาลในเดือน ก.ย. ต่อไป
"งบประมาณจำนวน 1,514 ล้านบาท ขณะนี้ สปสช. ได้ทำการประมวลผลการเบิกจ่ายค่าบริการผู้ป่วยใน โดยเป็นข้อมูลบริการตั้งแต่วันที่ 1-15 ส.ค. 2567 ซึ่งในส่วนนี้ สปสช. จะทำการโอนจ่ายให้กับหน่วยบริการภายในวันที่ 31 ส.ค. 2567 นี้ โดยไม่รอสิ้นปีงบประมาณ และเงินที่เหลือจะนำไปรวมกับงบผู้ป่วยในที่คงเหลือ เพื่อเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลในช่วงกลางเดือนก.ย.ต่อไป"นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดสรรเงิน 1,514 ล้านบาท เป็นการคิดตามอัตราประมาณ 7,000บาท/adjRW เฉลี่ยแต่ละรพ. จะได้รับก็ได้เป็นหลักล้านบาท ส่วนอัตราการจ่ายจะกลับมาเป็น 8,350 บาท/adjRW หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมด ตอนนี้พยายามดำเนินการช่วยกันแก้ปัญหา ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทินรมว.สาธารณสุข ของบกลาง 7.1 พันล้านบาท ก็จะมาช่วยได้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนส.ค.2567 คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet)) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชนสิทธิ 30บาท
โดยระบุว่าสปสช.ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขาดไปจำนวนมาก อย่างงบประมาณผู้ป่วยใน ให้เพียง 8,350 บาท/adjRW แต่ต้นทุนจริงของรพ.สธ.จะอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นบาท ส่วนโรงเรียนแพทย์อยู่ที่ 25,000 -30,000 บาท และเมื่อเดือน มิ.ย.2567 ได้รับเงินจากสปสช.ในอัตรา 7,000 บาท/adjRW ลดจากข้อตกลงเดิมที่ให้มาในอัตรา 8,350 บาท