“โรคมะเร็งเมโสเธลิโอมา” -“ซิลิโคสิส” โรคจากการประกอบอาชีพ 

“โรคมะเร็งเมโสเธลิโอมา” -“ซิลิโคสิส” โรคจากการประกอบอาชีพ 

เปิดสถานการณ์ 5 โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม  “ซิลิโคสิส” ปี 67 มีผู้ป่วย 13 ราย  พบใน 3 จังหวัด เจอ “มะเร็งเมโสเธลิโอมา” 1 ราย เกิดจากแร่ใยหิน 

KEY

POINTS

  • เปิดสถานการณ์ 5 โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม  “ซิลิโคสิส” ปี 67 มีผู้ป่วย 13 ราย  พบใน 3 จังหวัด เจอ “มะเร็งเมโสเธลิโอมา” 1 ราย เกิดจากแร่ใยหิน 
  • มะเร็งเมโสเธลิโอมา หนึ่งโรคจากการประกอบอาชีพ เป็นมะเร็งที่เกิดจากการหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไป ซึ่งมีอาชีพเสี่ยงอย่างน้อย 4 อาชีพ
  • ซิลิโคสิส เป็นอีกโรคจากการประกอบอาชีพ ที่เกิดขึ้นจากการสูดละอองฝุ่นซิลิก้า  อาการป่วย อาชีพเสี่ยง และวิธีการป้องกัน

 

ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ มีการนำสถานการณ์โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อสุขภาพของประชาชน 5 โรค ประกอบด้วย

1.โรคจากภาวะอับอากาศ ปี 2562-2566 เกิด 34 เหตุการณ์ เสียชีวิต 58 ราย  สาเหตุเกิดจากล้าง/ขุด/ลอก/ซ่อม/สูบ ,เปิดวาส์วน้ำ,พลัดตก,เข้าโรงเรือน และจัดเก็บปลา มีอาชีพเกษตรกร 38 ราย รับจ้างทั่วไป 17 ราย นักเรียน/นักศึกษา 2 ราย และพนักงานของรัฐ 1 ราย  ส่วนในปี 2567 เกิด 12 เหตุการณ์ เสียชีวิต 13 ราย 
2.โรคซิลิโคสิส  5 ปีย้อนหลัง ปี 2562-2566 รวม 180 ราย มีอาชีพพนักงานบริษัท/โรงงาน 74 ราย  รับจ้าง 65 ราย อื่นๆ 37 ราย เกษตรกรรม 4 ราย  ในปี 2567 จำนวนผู้ป่วย 13 ราย  อาชีพพนักงานบริษัท/โรงงาน 8 ราย แรงงานนอกระบบรับจ้างแกะสลักหิน 5 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วย คือ กาฬสินธุ์ 5 ราย สมุทรสาคร 6 ราย  และสุราษฎร์ธานี 2 ราย 

ป่วยโรคมะเร็งเมโสเธลิโอมา 

3.โรคที่เกิดจากแอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน 5 ปี ย้อนหลัง ปี 2562-2566 จำนวนผู้ป่วย 72 ราย อาชีพรับจ้าง 41.7 % พนักงานบริษัทเอกชน 27.8 % ผู้ปลูกพืชไร่และพืชผัก ทำไร่ ชาวนาปลูกข้าว 19.4 % และไม่ระบุ 11.1 %  ในปี  2567 พบผู้ป่วยทั้งหมด 1 ราย โรคมะเร็งเมโสเธลิโอมา ร่วมกับโรคฝุ่นแป้งจับปอด เป็นหญิงไทยอายุ 63 ปี มีประวัติทำงานสัมผัสแร่ใยหินในโรงงานผลิตยางในรถจักรยานแห่งหนึ่ง จ.สมุทรสาคร
4.โรคที่เกิดจากสารกำจัดศัตรูพืช อัตราป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช 5 ปีย้อนหลัง ปี 2562-2566 โดยปี 2562 อยู่ที่ 13.07 ต่อแสนประชากร  ปี 2563 อยู่ที่ 13.75 ต่อแสนประชากร   ปี 2564  อยู่ที่ 11.08 ต่อแสนประชากร  ปี 2565 อยู่ที่ 14.25 ต่อแสนประชากร   และปี 2566 อยู่ที่ 19.12 ต่อแสนประชากร   ส่วนปี 2567 อัตราป่วยอยู่ที่  6.247 ต่อแสนประชากร  
5.ผู้ป่วยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566-28ส.ค.2567 จำนวนผู้ป่วย 5 กลุ่มโรค ทั้งหมด 3,860,583 ราย  แยกเป็นโรค กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 2,157,795 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 1,733,031 ราย  โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 1,038,829 ราย โรคหืด 79,917 ราย และ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  19,332 ราย

มะเร็งเมโสเธลิโอมา เกิดจากแร่ใยหิน

มะเร็งเมโสเธลิโอมา หนึ่งในโรคจากการประกอบอาชีพที่มีการรายงานพบผู้ป่วย 1 รายในปี 2567นั้น กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า 

โรคจากแอสเบสตอส หรือแร่ใยหิน หมายถึง โรคหรือภาวะผิดปกติที่เกิดจากการหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไป ทำให้เกิดแอสเบสโตสิส ภาวะปื้นเยื่อหุ้มปอดหรือภาวะเยื้อหุ้มปอดหนากระจาย  ซึ่งมะเร็งเป็นโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยมะเร็งที่เกิดจากแอสเบสตอส ได้แก่  เมโสเธลิโอมา เช่น มะเร็งเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น  มะเร็งปอด และมะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น 
ทั้งนี้ อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโรคจากแอสเบสตอส คือ เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง ไอแห้ง ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอกขณะหายใจเข้าออก

อาชีพเสี่ยง การป้องกันแร่ใยหิน 

งานผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ท่อซีเมนต์ งานผลิตเครื่องเงิน เครื่องทอง  งานผลิตวัสดุกันความร้อน ถุงมือ เสื้อผ้าทนไฟ  งานซ่อมแซมรื้อถอนอาคาร 

หากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ถูกทำให้แตก เส้นใยแร่ใยหินจะถูกปล่อยออกมาลอยฟุ้งในอากาศ และสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้
วิธีการป้องกัน

  • ยกเลิกการใช้แร่ใยหินหรือใช้วัสดุทดแทนที่มีอันตรายน้อยกว่า
  • ลดการฟุ้งกระจายแร่ใยหิน เช่น การใช้สเปรย์น้ำ หรือพรมน้ำลงวัตถุที่ตัดแต่งให้ชึ่มก่อนขณะตัด
  • ใช้อุปกรณ์ปิกครอบ/ควบคุมแหล่กำเนิด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของแร่ใยหิน
  • สวมหน้ากากป้องกันแร่ใยหินตลอดเวลาทำงาน
  • ตรวจพสมรรถภาพปอกทุก 1 ปี ถ่ายภาพรังสีทรวงอกทุก 1 ปี
    “โรคมะเร็งเมโสเธลิโอมา” -“ซิลิโคสิส” โรคจากการประกอบอาชีพ 

ซิลิโคสิส ปอดฝุ่นหินจากสูดผลึกซิลิก้า

อีกโรคคือ ซิลิโคสิส หรือ โรคปอดฝุ่นหิน (Silicosis) สาเหตุ เกิดจากการสูดหายใจเอาฝุ่นซิลิกอนไดออกไซด์ หรือผลึกซิลิก้า เข้าไปในปอด ฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็ก พบมากในหินทราย ทำให้เกิดพังผืดในปอด เนื้อปอดเสียหาย เป็นวัณโรคปอดได้ง่าย

สังเกตอาการ

  • แบบเฉียบพลันเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 2- 3 เดือน โดยมีอาการหอบเหนื่อย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
  • แบบเรื้อรังได้รับฝุ่นปริมาณไม่มาก แต่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมากกว่า 15 ปีขึ้นไปจะมีอาการหอบเหนื่อย เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ไอแห้งเรื้อรัง บางครั้งไอเป็นเลือด

ถ้ามีอาการ ต้องเข้ารับการเอกซเรย์ปอด และตรวจสมรรถภาพปอดจากแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค

กลุ่มเสี่ยง

  • คนแกะสลักหิน ตัดหิน
  • คนงานเหมืองแร่/โรงโม่หิน
  •  คนงานในอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้ว เซรามิก

ทั้งนี้ กระบวนการผลิต การระเบิดหิน ในเหมืองหิน และโรงโม่หิน ทำให้เกิดฝุ่นจำนวนมาก กระทบทั้งคนงานและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง  แต่ปัจจุบันกิจการดังกล่าวลดจำนวนลง เหลือแต่คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการ แกะสลักหิน เช่น พระพุทธรูป ครกหิน ลูกนิมิต ใบเสมา ตุ๊กตาประดับสวน

วิธีป้องกัน ซิลิก้า

  • โรงงาน ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น ใช้อุปกรณ์ปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาจากเครื่องจักร วิธีการทำให้เปียก มีระบบระบายอากาศเฉพาะที่ ป้องกันทางผ่านฝุ่น เช่น ปลูกต้นไม้ สร้างกำแพง หรือใช้ตาข่ายกั้นเครื่องจักรกับคนงาน
  • พนักงานใส่หน้ากากกรองฝุ่นหินเวลาทำงาน  ตรวจสุขภาพทุกปี โดยเฉพาะการเอกซเรย์ปอด และตรวจสมรรถภาพปอด