12 เรื่องปัง ของ 12 หน่วยงานระบบสุขภาพในปี 67

12 เรื่องปัง ของ 12 หน่วยงานระบบสุขภาพในปี 67

ในปีงบประมาณ 2567 หน่วยงานในระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประเทศไทย 12 หน่วยงานมีการขับเคลื่อนผลงานที่โดดเด่น

KEY

POINTS

  • ในปีงบประมาณ 2567 หน่วยงานในระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพของประเทศไทย 12 หน่วยงานมีการขับเคลื่อนผลงานที่โดดเด่น
  • กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คัดกรองมะเร็ง ไวรัสตับอักเสบ ช่วยรักษาชีวิตคนไทย กรมสุขภาพจิตค้นหาผู้ป่วยจิตเวช
  • สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา(อย.)ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากปี 2567 มีผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับการรับรองเลขอย.รวมทั้งประเทศ จำนวน  1,796 รายการ ประมาณการรายได้ 2,731 ล้านบาท

เริ่มจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า หน่วสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ 35 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 97 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 771 แห่ง รวมกว่า 900 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,781 แห่ง เป็นหน่วยที่นำบริการต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน ภาพรวมการรักษาพยาบาลมากกว่า 70  % มีเตียงที่ดูแลผู้ป่วยมากกว่า 171,359 เตียง เป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาพดี บุคลากร สธ. มีมากกว่า 4 แสนคน

เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆถือว่ามีน้อย แต่ผลงานไม่เคยน้อยกว่าประเทศอื่น ด้านทรัพยากร ที่เรามีงบประมาณที่น้อยกว่าประเทศอื่นหรือประเทศพัฒนาแล้ว หากคิดเป็นจีดีพี (GDP) ประเทศไทยมีงบฯ สำหรับการดูแลสุขภาพประมาณ 4 %ของจีดีพี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้ว่าไทยจะมีบุคลากรทางสาธารณสุขน้อย มีงบฯ น้อยแต่บริการของเราไม่น้อยกว่าใคร

30 บาทรักษาทุกที่ ปี67รพ.สธ.ครบทุกจังหวัด

ปี 2567 – 2568 มีความมุ่งมั่นพัฒนาบริการ 4 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ปรับภูมิทัศน์ รพ. ให้มีความทันสมัย

ประการที่ 2 เพิ่มการบริการด้วยหัวใจและรอยยิ้มเข้าถึงจิตใจผู้รับบริการ

ประการที่ 3 เพิ่มศักยภาพผู้ให้บริการและเครื่องมือ เช่น การเสริมเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ไปสู่ รพ.ประจำอำเภอที่มีขนาดเล็ก

และ ประการที่ 4 การหนุนเสริมบุคลากรให้มีความสุข มีค่าตอบแทน มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้เกิดการบริการสู่ประชาชน
12 เรื่องปัง ของ 12 หน่วยงานระบบสุขภาพในปี 67

ปลัดสธ. กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญของสธ.ที่ตอบสนองต่อนโยบายของประเทศ ได้แก่ 1. นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มีการให้บริการแล้ว 45 จังหวัด และภายในปี 2567 จะต้องครบทุกจังหวัด ต่อมาเป็นการพัฒนา รพ. ให้เป็น Smart Hospital เพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ 2. โรงพยาบาลทันตกรรม 119 แห่งใน 64 จังหวัด ประชาชนเข้าถึงบริการทางช่องปากแล้วเพิ่มขึ้นจาก 17.1 ล้านครั้งในปี 2565 เป็น 21.5 ล้านครั้งในปี 2567

3. นโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทยก่อนไปหาหมอ” โดยมีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการรักษาพยาบาล และสนับสนุนการใช้ยาและบัญชียาสมุนไพรทางการแพทย์แผนไทย 27 รายการ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ยาไพล เป็นต้น และ 4. แคร์ดีพลัส (Care D Plus) เพิ่มการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์บุคลากร ผู้ป่วยและญาติ และจัดอบรมบุคลากรทีมเชื่อมประสานใจ 20,709 คน

กรมการแพทย์ คัดกรองมะเร็ง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้คัดกรองโรคมะเร็งให้ประชาชนแล้ว 1.7 ล้านราย ในขณะเดียวกัน สามารถรักษาชีวิตไว้ได้กว่า 7 หมื่นราย ซึ่งมะเร็งในเพศหญิง พบได้มากที่สุดคือมะเร็งเต้านม ทั้งยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้คัดกรองมะเร็งเต้านมได้กว่า 2.5 หมื่นราย สามารถพบผู้ป่วยในระยะแรกที่สามารถรักษาจนหายได้มากกว่า 500 ราย

นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุการคัดกรองมะเร็งเต้านมไว้ในชุดสิทธิประโยชน์ ให้ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงที่มีญาติสายตรงที่ป่วยโรคมะเร็ง สามารถเข้าตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเมมโมแกรมได้ด้วย

ขณะเดียวกัน โรคมะเร็งที่พบมากในเพศชาย คือ มะเร็งลำไส้ สามารถตรวจคัดกรองจากเม็ดเลือดที่แฝงในอุจจาระ โดย 1 ปีที่ผ่านมา ได้คัดกรองประชาชนมากกว่า 5 ล้านราย ในจำนวนนี้พบความผิดปกติจึงได้เก็บตัวอย่างส่องกล้องมากกว่า 8 หมื่นคน สามารถรักษาชีวิตได้ 1 พันราย โดยการคัดกรองมะเร็งลำไส้บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ให้ประชาชนที่มีอายุ 50 – 70 ปี สามารถคัดกรองหาเลือดแฝงในอุจจาระได้

กรมควบคุมโรค คัดกรองไวรัสอักเสบกว่า 2.4 ล้านราย

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับ โดย 1 ปี พบผู้ป่วยประมาณ 22,000 ราย 70% เคยติดไวรัสตับอักเสบชนิดบีและชนิดซี ทำให้โรคมะเร็งตับเป็นมะเร็งอันดับ 1 ของไทย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้คัดกรองหาไวรัสอักเสบให้ประชาชนแล้วกว่า 2,400,000 ราย พบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี 6 หมื่นราย และชนิดซี 2 หมื่นราย

12 เรื่องปัง ของ 12 หน่วยงานระบบสุขภาพในปี 67

ถ้าคนกว่า 8 หมื่นคนนี้ไม่ได้รับการรักษา ก็จะเกิดภาวะตับแข็งประมาณ 3 หมื่นราย และมะเร็งตับประมาณ 15,000 ราย ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในอนาคตประมาณ 4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 32 ปีในปัจจุบัน สามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวเข้าไปขอรับบริการได้ในสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่ง ตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาการให้กำเนิดที่ลดลง ทำให้การดูแลสุขภาพทุกช่วงวัยมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพสตรีไทย ซึ่งพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยปีละ 1 หมื่นรายใหม่ อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50% หรือทุก ๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ฉะนั้นการคัดกรองหาเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของกรมวิทย์

 ทั้งนี้ สปสช.ได้บรรจุชุดสิทธิประโยชน์ให้หญิงไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วยตัวเองได้ ซึ่งเป็นการตรวจถึงระดับดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้ระบุความเสี่ยงได้ถึง 14 สายพันธุ์ มีความแม่นยำสูงมาก หากตรวจพบไว ก็สามารถรักษาหายขาดได้ ในปีที่ผ่านมากรมวิทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ 278 แห่ง ได้ตรวจตัวอย่างเชื้อแล้วกว่า 1.4 ล้านคน แต่ยังมีเป้าหมายตรวจอีก 12 ล้านคน กรมวิทย์จึงขอเชิญชวนผู้หญิงไทยที่อายุ 30 – 60 ปีที่ไม่เคยรับการคัดกรอง สามารถขอรับการตรวจได้

กรมสุขภาพจิต คัดกรองผู้ป่วยจิตเวช

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด ตั้งแต่ปี 2564 – 2567 พบว่าเพิ่มขึ้น 3 เท่า ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ป่วยจิตเวช 2.7 ล้านคนที่มีอาการรุนแรง ในจำนวนนี้ 20% เป็นผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด โดยเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้น พบว่ามากกว่า 50 %มีประวัติจิตเวชและยาเสพติด สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีเพียง 20 %ที่เข้าสู่การรักษา ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่สำคัญ

กรมสุขภาพจิตมีมาตรการสำคัญคือ การส่งเสริมป้องกัน และหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น กรมฯ จะต้องเข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป กว่า 127 แห่งมีหอผู้ป่วยจิตเวชแล้ว อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานในปี 2568 คือ การคัดกรองหาผู้มีความเสี่ยงป่วยจิตเวชระดับรุนแรง ด้วยอาการ 5 อย่าง ได้แก่ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และเที่ยวหวาดระแวง และมาตรการสำคัญคือการเพิ่มหอผู้ป่วยจิตเวชให้มากขึ้น
12 เรื่องปัง ของ 12 หน่วยงานระบบสุขภาพในปี 67

อย.หนุนสร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า นโยบายที่สำคัญ คือ 30 บาทรักษาทุกที่ ร้านยาคุณภาพที่อยู่ในทุกจังหวัด และโครงการพาหมอไปหาประชาชน นอกจากนี้ ยังอนุมัติขั้นตอนผู้ประกอบการให้เข้ามาขอคำอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว ยกเลิกการเรียกเอกสาร ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ การส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากหรือวิสาหกิจชุมชน  ในปี 2567 มีผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับการรับรองเลขอย.รวมทั้งประเทศ จำนวน  1,796 รายการ ประมาณการรายได้ 2,731 ล้านบาท

กรมอนามัยส่งเสริมการเกิดมีคุณภาพ

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินงานในปี 2567 ใช้หลักกลยุทธ์ PIRAB เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินการตามบทบาทภารกิจกรมอนามัย ในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขับเคลื่อน “การส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ” ผลักดันโครงการมหัศจรรย์ 2500 วัน ตามเป้าประสงค์เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กไทยสุขภาพดี 

  กำหนดมาตรการขับเคลื่อนโดยมีเป้าประสงค์เพื่อลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กไทยสุขภาพดี ดังนี้1.ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ เน้นการให้ความรู้ส่งเสริมสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ ปรับพฤติกรรมสุขภาพ ส่วนหญิงวัยเจริญพันธ์ที่ประสงค์ตั้งครรภ์ สนับสนุนยาเฟอร์โรโฟลิก ตรวจสุขภาพ ดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ   ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด จัดบริการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ สนับสนุนการตั้งครรภ์และการคลอดที่ปลอดภัย 

2.ส่งเสริมสนับสนุนเด็กไทยพัฒนาการสมวัย IQ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 102.8 ด้วยโภชนาการที่เหมาะสม เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน แม่ทำงานสามารถส่งนมแม่ฟรีผ่านโครงการ “ส่งรักส่งนม” ได้ที่ บขส นครชัยแอร์ และสายการบินนกแอร์ ฟรีทั่วประเทศ หลัง 6 เดือน เสริมด้วยอาหารตามวัย ตรวจฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ฉีดวัคซีน ยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก ตรวจพัฒนาการ ฟรีทุกราย

แพทย์แผนไทยฯยกระดับสมุนไพร-บริการ -หมอนวด

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การสร้างงานสร้างอาชีพ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 แสนล้านในปี 2570 อีกนโยบาย เจ็บป่วยคราใดนึกถึงยาไทยก่อนไปหาหมอ แบ่งงานเป็น 2 ส่วน
1.สมุนไพรมีการส่งเสริมทั้งต้นน้ำมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรกว่า 1 ล้านไร่ สมุนไพรแชมเปี้ยน 15 รายการ เมืองสมุนไพร 16 จังหวัด และตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรแห่งแรกของประเทศ กลางน้ำ เช่น ยกระดับคุณภาพโรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพร 850 แห่งจาห 1,000 แห่ง เพิ่มโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรจาก 11 แห่งเป็น 24 แห่ง  
และ2. การบริการการแพทย์แผนไทยและการนวดไทย ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ปี 2567 จำนวนเข้ารับบริการจำนวน 34,700 ราย เพิ่มขึ้นจาก 2566 คิดเป็น 15.8 %

กรมสบส. สมาร์ทอสม.

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปี 2567 ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพ อสม.และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาสุขภาพตนเองและชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน สมาร์ท อสม. ส่งเสริมสุขภาพ คัดกรองสุขภาพ มีผลสำเร็จ อสม.รายงานผลได้ 100% คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุกว่า 7.6 ล้านคน หรือร้อยละ 74 พร้อมปักหมุดกลุ่มเปราะบาง โดยพบ 450,000 ราย
12 เรื่องปัง ของ 12 หน่วยงานระบบสุขภาพในปี 67

สปสช. หน่วยนวัตกรรมร่วม 30 บาทรักษาทุกที่

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2567 สปสช. ดำเนินการตามนโยบายในการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ โดยได้ร่วมกับสภาวิชาชีพ จัดบริการนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ปีที่ผ่านมามีหน่วยนวัตกรรมขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 9,713 แห่ง ร้านยา 5,307 แห่ง คลินิกทันตกรรม 1,112 แห่ง คลินิกเวชกรรม 656 แห่ง คลิกนิกเทคนิกการแพทย์ 169 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทย 30 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัด 291 แห่ง และคลินิกการพยาบาล 2,872 แห่ง

ภาพรวมปีนี้ ลดความแออัด เพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วย 4,270,000 คน และร่วมกับ สธ. เชื่อมระบบการเบิกจ่าย ให้ประชาชนเข้ารับบริการสะดวกยิ่งขึ้น นำร่อง 45 จังหวัดแล้ว

สช.ขับเคลื่อนทำหนังสือไม่ยื้อชีวิต

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีมติต่าง ๆ 93 มติ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และยังมีสิทธิที่กำหนดไว้ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ เช่น สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 ทำร่วมกับภาคีเครือข่าย ปีนี้ประชาชนเห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้น อีกทั้งเข้าสู่สังคมสูงวัย และยังมีนโยบายชีวาภิบาล จึงร่วมกับกรมการปกครองทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำได้ทุกที่ทุกเวลา ออกแบบชีวิตในระยะท้ายได้ด้วยตนเอง

สสส.ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มีภารกิจทำให้คนไทยสุขภาพดี 4 มิติ และตอบสนองปัญหาการเจ็บป่วย เพราะการเจ็บป่วยจากพฤติกรรมสุขภาพ โดยลดปัจจัยเสี่ยงให้ลดน้อยลง มุ่งเน้นจัดากรปัจจัยเสี่ยง เรื่องอาหาร โภชนาการ มุ่งสร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงโรค NCDs โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม ร่วมกับภาคีเครือข่ายเชิงนโยบาย วิชาการ และสื่อสารสังคม