"โรคติดเชื้อไม่ทราบชนิด" ระบาดในอัฟกานิสถาน ป่วยแล้วกว่า 500 ราย ตาย2 ราย
โรคติดเชื้อไม่ทราบชนิดแพร่ระบาดในอัฟกานิสถาน มีผู้ป่วยแล้วกว่า 500 ราย เสียชีวิต 2 ราย กรมควบคุมโรคสั่งด่านตรวจเข้มเฝ้าระวัง-คัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด เน้นย้ำไทยมีระบบเฝ้าระวังและคัดกรองโรค ขอประชาชนไม่ตื่นตระหนก
จากกรณีที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของโรคที่ไม่ทราบชนิดในประเทศอัฟกานิสถาน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 ราย เสียชีวิต 2 ราย อาการส่วนใหญ่ คือ อ่อนแรง อ่อนเพลีย ปวดมือและเท้าอย่างรุนแรง ท้องเสียรุนแรง และมีไข้สูงลอยนั้น
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ไม่นิ่งนอนใจ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค ได้แจ้งสายการบิน ประสานนักบินและลูกเรือที่ทำการบินในเส้นทางใกล้เคียงให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเองและผู้โดยสาร รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยและใส่ถุงมือขณะจัดเก็บอาหารและเครื่องดื่มของผู้โดยสาร และขณะทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง
ในส่วนมาตรการการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่ช่องทางเข้าออก ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ตอู่ตะเภา และหาดใหญ่ ให้เฝ้าระวังผู้เดินทางที่มาจากอัฟกานิสถาน หากมีไข้สูงหรือพบผู้เดินทางที่มีอาการเข้าได้กับโรคดังกล่าว ให้รับการคัดกรองเพิ่มเติม ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ เพื่อประเมินอาการและจัดการต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมจากองค์การอนามัยโลกภูมิภาคแอฟริกา (WHO African Region) พบการระบาดของโรคดังกล่าว ในหมู่บ้านคาฟชาน อำเภอชินวารี จังหวัดปาร์วัน ประเทศอัฟกานิสถาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้ไทฟอยด์ และได้ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในศูนย์สุขภาพชุมชนคาฟชาน ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยสงสัย 33 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 20 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาของศูนย์สุขภาพชุมชนคาฟชาน
“หากพิจารณาอาการของผู้ป่วยจากรายงานข่าว เห็นได้ว่ามีอาการเข้าได้กับโรคไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดมานานแล้ว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella typhi ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผักสด ผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก น้ำดื่มที่ไม่สะอาด หรือสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ” นพ.ภาณุมาศ กล่าว
ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลโรคไข้ไทฟอยด์เพิ่มเติมว่า ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ไข้สูง ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย อาจมีผื่น ถ่ายเหลวหรือท้องผูก บางรายอาจมีไข้นาน 3 - 4 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้ทะลุ หรือตับม้ามโต โรคไข้ไทฟอยด์สามารถป้องกันได้ ดังนี้
1.ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ บริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็ง ที่สะอาดได้มาตรฐาน หมั่นล้างมือเป็นประจำ
2. หากรับประทานอาหารที่ปรุงสุกไว้แล้วหรืออาหารค้างมื้อ ควรนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
3.ภาชนะที่ใช้สำหรับอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุงสุก เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค
4.ปรับปรุงสุขาภิบาลด้านสถานที่สำหรับการเตรียม ปรุง และประกอบอาหาร ห้องน้ำห้องส้วมควรให้ถูกหลักสุขาภิบาล กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูล เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
“ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ โดยแนะนำให้ให้ฉีดในผู้ที่จะเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นพาหะของโรค หรือบุคลากรที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”นพ.อภิชาตกล่าว