10 เทรนด์สุขภาพดิจิทัล สธ.พัฒนา Digital Health Platform
10 เทรนด์สุขภาพดิจิทัลมาแรง สธ.พัฒนา Digital Health Platform เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชน 60 ล้านคน ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยบริการทั้งรัฐ และเอกชน
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพ หรือ “สุขภาพดิจิทัล” เป็นการดำเนินที่สำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ มีเป้าหมายหลัก ในการบูรณาการข้อมูลสุขภาพ รวบรวมมาเป็นข้อมูลสุขภาพดิจิทัลรายบุคคล และคืนข้อมูลสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อให้เป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ และเป็นการคืนอำนาจ การตัดสินใจในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนที่ดีอย่างยั่งยืน
10 เทรนด์สุขภาพดิจิทัล
ทั้งนี้ เทรนด์สุขภาพดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ,นวัตกรรมทางการแพทย์ด้วย3 D Printing ,Big data Analytics ,Blockchain,Smart Home ,Internet of things ,อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ,อุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์แบบพกพา ,หุ่นยนต์ และระบบการแพทย์ทางไกล(Telemedicine) เป็นต้น
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการกำหนด ยุทธศาสตร์สุขภาพดิจิทัล ปี 2564 – 2568 ประกอบด้วย 1.เสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านสุขภาพดิจิทัลในระดับชาติอย่างยั่งยืน
2.เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบข้อมูลสุขภาพ
3. ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพผ่านสุขภาพดิจิทัล และแอปพลิเคชัน
4.สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Digital Health Platform, NDHP)
และ5. พัฒนากำลังคนด้านสุขภาพดิจิทัล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
Digital Health Platform เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ
ในส่วนของการสร้าง “Digital Health Platform” เป็นการพัฒนามาจากระบบ “หมอพร้อม” ที่มีการใช้ในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยบริการ และเชื่อมต่อประชาชนทั่วประเทศ กว่า 60 ล้านคน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชน กว่า 9,600 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
มีการลงทะเบียนพิสูจน์ยืนยันตัวตนของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (Provider ID) กว่า 370,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยการกำกับดูแลของคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลสุขภาพ สธ. และกำลังอยู่ระหว่างการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม
ยกระดับระบบบริการสุขภาพดิจิทัล
ล่าสุด สธ.ลงนามความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลบริการด้านสาธารณสุขบน Digital Health Platform กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. ได้พัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล บน Digital Health Platform เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองหน่วยงาน ในการส่งเสริม สนับสนุน และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพดิจิทัล ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูล และการยกระดับบริการสุขภาพ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลกลางที่มีความทันสมัย และถูกต้อง โดยได้รับการรับรองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาพสู่เชิงพาณิชย์
ขณะที่ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า Digital Health Platform เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์ของไทย (Thailand Medical Innovation Hub) อาทิ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างและดึงดูดธุรกิจนวัตกรรมผ่านเครื่องมือและกลไกความร่วมมือในการแบ่งปันทรัพยากรของเครือข่ายภายในย่าน ทำให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของเครือข่าย นำไปสู่การสร้างมูลค่าการลงทุนทางการแพทย์ในอนาคต
“NIA พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับบริการด้านสาธารณสุข และผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาพสู่เชิงพาณิชย์ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพที่สำคัญในระดับสากล โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขบน Digital Health Platform ของสธ. ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม และปลอดภัยต่อไป” ดร.กริชผกา กล่าว
ผนึกสตาร์ตอัปร่วมพัฒนา
รูปธรรมที่จะเห็นอันดับแรกภายหลังความร่วมมือครั้งนี้คือ การนำข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมโยงบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่ง One Single Platform เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และข้อมูลสำคัญที่สุดของประเทศคือ ข้อมูลด้านสุขภาพ โครงการนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจาก สธ.รวมถึงมีสตาร์ตอัปที่จะเข้ามาร่วมพัฒนางาน ซึ่ง สนช.เปรียบเสมือนโซ่กลางในการคล้องรวมให้เกิดสิ่งที่เป็นการบูรณาการร่วมกัน
ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของข้อมูลสุขภาพนั้น เป็นสิ่งที่สธ.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ที่ผ่านมา สธ.ก็ได้ดำเนินการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพในการดำเนินการโครงการสำคัญ เช่น 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว แอปพลิเคชันหมอพร้อม อย่างไรก็ตามความร่วมมือนี้เป็นประโยชน์ในการเชื่อมข้อมูลโดยตรง ที่นำไปสู่การต่อยอดพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ เป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์