“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่” มูลค่าความเสียหาย 21 ล้านบาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยรับร้องเรียน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่” (UCEP) 3 ปี เกือบ 2,000 กรณี ถูกเรียกเก็บเงิน -ค่ารักษาแพงเกินจริง รวมมูลค่าความเสียหาย 21 ล้านบาท ชง 3 ข้อปรับปรุง นักวิจัยยันรพ.เอกชนไม่ได้ขาดทุน
ในการอภิปรายเรื่อง “ข้อเสนอเพื่อพัฒนาบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP)” เมื่อเร็วๆนี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์ร้องเรียนด้านสุขภาพ ผ่านองค์กรของผู้บริโภคว่า จากข้อมูลระหว่างเดือน ต.ค. 2564 - ก.ย. 2567 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,662 กรณี เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จำนวน 68.33 % ประกันสังคม 8.98 % ข้าราชการ 1.69% ชำระเงินเอง/ประกันสุขภาพเอกชน 6.91% ไม่ระบุสิทธิ 7.89 %
ร้องUCEP เกือบ 2,000 กรณี
เฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP)มีปัญหา 1,963 กรณี ทั้งขอคำปรึกษา ตรวจสอบสถานะ ไม่ได้รับความสะดวกจากการรับบริการ ถูกเรียกเก็บเงิน ค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ไม่ได้รับการส่งต่อ ฯลฯ รวมมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 21 ล้านบาท
เสนอ 3 ข้อปรับปรุง UCEP
ข้อเสนอการปรับปรุงโครงการ UCEP ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) พิจารณาให้สิทธิ UCEP ไม่ควรยึดเฉพาะผู้ป่วยสีแดงเพียงอย่างเดียว เพราะสีเหลือง สีส้ม หรือแม้แต่สีเขียว อาการก็ทรุดจนเป็นสีแดงได้ ขณะเดียวกันการวินิจฉัยควรยึดคนไข้หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหน้างาน และควรวินิจฉัยทุกรายและการวินิจฉัยว่าฉุกเฉิน ควรรวมเรื่องอุบัติเหตุเข้าไปด้วย เพราะผู้ป่วยจากอุบัติเหตุมักถูกนำส่งโดยรถฉุกเฉิน ไม่ได้เลือก รพ.เอง และส่วนหนึ่งก็ถูกนำส่งที่ รพ.เอกชนซึ่งมีค่ารักษาแพงมาก
2.กรมการค้าภายในกำกับราคาค่าบริการ รพ.เอกชน เพราะ UCEP ใช้อัตราจ่ายตามจริงของสปสช. แต่พอถูกวินิจฉัยว่าไม่ใช่ฉุกเฉิน มักถูกเรียกเก็บเงินสดตามอัตราของ รพ. ดังนั้นเสนอให้เรียกเก็บในอัตราของ UCEP แม้จะถูกวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายอาการฉุกเฉิน
3. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำกับคุณภาพการให้บริการของ รพ.เอกชน เช่น ถ้าเข้าข่ายอาการฉุกเฉิน แต่ถูกเรียกเก็บเงินหรือปฏิเสธการรักษา สบส. ควรมีมาตรการตรวจสอบทุกราย และรายงานชื่อ รพ.ที่เรียกเก็บเงินในเว็บไซต์ของ สบส.
UCEP รพ.เอกชนไม่ได้ขาดทุน
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยด้านกลไกการจ่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลบัญชีที่ รพ.เอกชนส่งให้กระทรวงพาณิชย์ พบว่า รพ.เอกชนมีกำไรปีละประมาณ15 % ส่วนอัตราจ่ายชดเชยของ UCEP เป็นอัตราที่ Add-on จากอัตราจ่ายของกรมบัญชีกลางอีก 15 % ดังนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ถ้าจะบอกว่าจ่ายชดเชย รพ.เอกชนน้อยไป ขณะเดียวกันก็มีประเด็นมายาคติหลายเรื่อง เช่น รพ.เอกชนมักบอกว่าต้นทุนค่ายาแพงกว่าที่ รพ.รัฐซื้อ
แต่จากข้อมูลจากกรมการค้าภายใน พบว่าราคายาที่เอกชนจัดซื้อไม่แตกต่างจากราคาที่ รพ.รัฐจัดซื้อ แต่เวลาเรียกเก็บค่ายากับประชาชนก็มีช่องว่างขนาดใหญ่ที่เป็นโจทย์ให้กรมการค้าภายในว่าจะควบคุมราคายาที่เรียกเก็บจากประชาชนอย่างไร หรือเรื่องค่าธรรมเนียมแพทย์ซึ่งกำหนดโดยแพทยสภา รพ.เอกชนมักบอกว่าเก็บมาแล้วจ่ายให้แพทย์โดยตรง ไม่มีกำไรจากส่วนนี้ แต่จากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี ค่าธรรมเนียมแพทย์กลับเพิ่มขึ้นมาถึง 50% ในทุกรายการ เป็นการผลักภาระแก่ประชาชนในที่สุด
“เห็นด้วยกับการสร้างสมดุลไม่ให้ รพ.เอกชนรับภาระจนเกินไป แต่ยืนยันว่าอัตราจ่ายของ UCEP ขณะนี้ ไม่ได้ทำให้ รพ.เอกชนขาดทุน แต่ก็ไม่กำไร ส่วนประเด็นสำคัญของ UCEP ไม่ใช่ รพ.เอกชนไม่อยากให้บริการ แต่คิดว่าเป็นเรื่องของการรู้ไม่เท่ากันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยรพ.เอกชนพยายามผลักว่าคุ้มครองจนพ้นภาวะวิกฤต แล้วจะเก็บเงินหลังจากพ้นวิกฤต แต่จริงๆ UCEP คุ้มครอง 72 ชม. ไม่ว่าจะพ้นวิกฤตหรือไม่ เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ภายใน 72 ชม. ผู้ป่วยจะกลับมาวิกฤตอีกหรือไม่”นพ.ขวัญประชากล่าว
UCEP หลัง 72 ชั่วโมง เตียงไม่พอ
ด้านน.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาการดำเนินงานที่พบ คือหลัง 72 ชม. ไปแล้ว ต้องมีการหาเตียง ICU มารับช่วงดูแลผู้ป่วยต่อและมักมีเตียงไม่พอ สปสช. ใช้วิธีการเจรจาให้ผู้ป่วยนอนรักษาต่อที่ รพ. เดิมโดยจ่ายตามเกณฑ์ที่ UCEP กำหนด โดย80% สามารถเจรจาได้ ส่วนอีก 20 % จะส่งไปยัง รพ.ที่ผู้ป่วยลงทะเบียนสิทธิไว้
ส่วนข้อเสนอปรับปรุงนโยบาย UCEP ได้แก่ 1.สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการนี้ ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพราะยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบสิทธินี้ 2. สนับสนุนการใช้บริการ 1669 เพราะจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นและประเมินส่ง รพ.ที่มีศักยภาพสอดคล้องกับอาการได้ แต่ไม่สนับสนุนให้ตรวจสอบสิทธิในรถฉุกเฉิน เพราะอยากให้เข้าใจตรงกันว่าการช่วยชีวิตคนไข้สิ่งสำคัญอันดับแรก หลังจากนั้นค่อยมาเคลียร์ค่าใช้จ่ายกัน และ 3.ทบทวนอัตราจ่าย เพราะเป็นอัตราตั้งแต่ปี 2560 ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนอัตราจ่ายสอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลง และ 4.ทุกกองทุนสุขภาพและ สบส. ควรประชุมร่วมกันเพื่อทบทวนว่ายังมีปัญหาใดในการดำเนินงานเพื่อปรับแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
UCEP ขยายเกณฑ์-อัตราจ่าย
นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในเชิงการจัดการ ถ้าขยายเกณฑ์ประเมินเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบ UCEP มากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับประชาชนแน่นอน ขณะเดียวกันต้องทำให้โครงการดำเนินต่อได้ โดยมีอัตราจ่ายที่ รพ.เอกชนยอมรับ ซึ่งหากสร้างเกณฑ์ที่ทำให้เกิดความสมดุลได้ จะทำให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปได้
นายปรานต์อธิป ถังกุล นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากตัวเลขปี 2566 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ UCEP ค่อนข้างมาก และ สบส. ได้ดำเนินคดีทั้งอาญาและคดีปกครอง โดยปัจจุบันมีคดีในชั้นศาลปกครองประมาณ 40 คดี ส่วนข้อเสนอการปรับปรุงการดำเนินการนั้น ตนเห็นว่า 1. เสนอให้เพิ่มอัตราจ่ายกรณี UCEP ให้มากขึ้น เพราะเท่าที่ได้รับเสียงสะท้อนมา อัตราจ่ายของ UCEP อยู่ที่ 40-50% ของค่าใช้จ่ายจริง และ 2. แก้ไขระบบการส่งตัวหลังจากพ้นวิกฤต เพราะสิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการหา รพ.รับส่งต่อค่อนข้างยาก